รัฐสภา 3 ส.ค.- สนช.ลงมติแก้ไขร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ให้หัวหน้าพรรคลงสมัครส.ส.แบบใดก็ได้ และหากพบการทุจริตในขั้นตอนไพรมารี่โหวต ให้มีโทษจำคุก แต่ไม่ยุบพรรคการเมือง
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. …. ตามมาตรา 267 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เสร็จแล้ว
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีข้อโต้แย้ง 4 ประเด็น คือ 1 กระบวนการสรรหาผู้สมัครเลือกตั้งยังไม่มีมาตรการจัดการทุจริตในชั้นการประชุมสาขาพรรคการเมือง เพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2. การกำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองต้องอยู่ในลำดับที่ 1 เป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม 3.การกำหนดให้สมาชิกทุกเขตเลือกตั้งมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คนเพื่อร่วมเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งจะทำให้พรรคที่มีสมาชิกไม่ถึงจำนวนดังกล่าวไม่สามารถจัดให้เลือกได้ถือเป็นการตัดสิทธิทางการเมืองและกระทบต่อหลักการของรัฐธรรมนูญ 4.กรณีที่กำหนดให้การเลือกตั้งครั้งแรกหากพรรคการเมืองใดจัดตั้งสาขาพรรคในจังหวัดใดแล้วให้พรรคนั้นสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตของจังหวัดนั้นจะเป็นการทำให้พรรคที่มีอยู่ก่อนกฎหมายนี้ประกาศใช้ได้เปรียบ
นายสุรชัย กล่าวว่า จากการพิจารณา กรรมาธิการมีมติแก้ไขร่างที่ผ่านการพิจารณาวาระ 3 ของ สนช.จำนวน 2 มาตรา คือมาตรา 51(4) ให้หัวหน้าพรรคลงสมัครได้ทั้งแบบแบ่งเขต หรือบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 เพื่อเป็นการให้สิทธิหัวหน้าพรรคการเมือง จากเดิมที่กำหนดให้จะต้องลงเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเท่านั้นและ มาตรา 52 เกี่ยวกับบทลงโทษหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค และเพิ่มบทบัญญัติใหม่ 7 มาตรา เกี่ยวกับข้อห้ามการกระทำทุจริตในกระบวนการสรรหาและบทกำหนดโทษ เกี่ยวกับการทุจริตในขั้นตอนเลือกผู้สมัคร หรือไพรมารี่โหวต ซึ่ง ยืนยันไม่มีเพิ่มโทษยุบพรรคการเมือง จะมีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำ 6 เดือน – 1ปี หรือ 1- 10 ปีเท่านั้น และต้องมีกระบวนการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วม เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตดังเช่นที่ผ่านมา
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต กรรมาธิการวิสามัญฯ ในสัดส่วน กรธ. กล่าวว่า เหตุที่ กรธ. ยื่นโต้แย้งนั้น ไม่ได้ขัดข้องกับระบบไพรมารีโหวต แต่เพื่อให้การดำเนินการไพรมารีโหวต เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสอดคล้องตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ส่วนการดำเนินการในอนาคต ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดเขตเลือกตั้ง ในการส่งผู้แทนของพรรคการเมืองให้ชัดเจน เพราะเดิมที ไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีสาขา หรือผู้แทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และกระบวนการไพรมารีโหวต ดังนั้น การอำนวยความสะดวกจากรัฐบาล และ กกต. และความร่วมมือจากพรรคการเมือง จะช่วยให้การเลือกตั้งในอนาคตเป็นไปอย่างราบรื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุม สนช. มีมติเสียงข้างมาก ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 205 เสียง เห็นชอบให้ประกาศใช้ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ตามที่คณะกรรมมาธิการวิสามัญฯ ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณา ขั้นตอนต่อไป ประธาน สนช. จะส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ตามมาตรา 81 ของรัฐธรรมนูญต่อไป.-สำนักข่าวไทย