กรุงเทพฯ. 2 ส.ค. – รมว.พลังงานยอมรับเปิดประมูลบงกช- เอราวัณ เดือนกันยายนนี้ แนวโน้มเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี)
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กฎหมายลูกตาม พ.ร.บ. ปิโตรเลียมและ พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม คาดว่า ครม.จะทยอยพิจารณาทั้ง 6 ฉบับ เดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ดังนั้น จึงคาดว่าจะเปิดประมูลแหล่งบงกช- เอราวัณได้ในเดือนกันยายนนี้
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า แนวโน้มการประมูลอาจจะใช้แนวทางพีเอสซี เป็นหลัก แต่หากต้องรอ ครม.ชี้ขาดว่าจะเป็นรูปแบบใดว่าใช้พีเอสซี/สัมปทานหรือระบบจ้างผลิต หรือเอสซี โดยหลักเกณฑ์พีเอสซีเบื้องต้นจะกำหนดให้มีค่าภาคหลวงร้อยละ 10 ของรายได้แบ่งปันผลกำไรระหว่างรัฐ/เอกชน ร้อยละ 50 หักค่าใช้จ่ายการลงทุนร้อยละ 50 ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นฐานการประมูลแล้วแต่ผู้ประมูลจะเลือกให้ผลตอบแทน แก่รัฐว่าส่วนแบ่งกำไรจะมากกว่านี้ก็ได้
“ขณะนี้มีจีน ตะวันออกกลาง แสดงความสนใจ ซึ่งในส่วนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และคูเวตชัดเจนว่าพรัอมประมูลแข่งขันกับรายเดิม คือ เชฟรอนและ ปตท.สผ. ซึ่งระบบพีเอสซีนั้นทำให้การกำกับดูแลเข้มงวดขึ้นตามที่องค์กรภาคประชาชนต้องการ การกำกับก็จะอยู่ภายใต้กรมเชื้อเพลิงฯ ไม่จำเป็นต้องตั้งบริษัทหรือบรรษัทมาดูแลแต่อย่างใด” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ กล่าว
ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้จัดมอบรางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศ (Thailand Coal Awards) ด้านบริหารจัดการทั้งระบบการผลิตและการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง มุ่งยกระดับมาตรฐานการจัดการที่ดี สร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนมีผู้ได้รับรางวัล 5 หน่วยงาน โดย รมว.พลังงานย้ำว่าทั่วโลกยังใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงถึงร้อยละ 40 และใช้เทคโนโลยีสะอาด ซึ่งในส่วนของไทยแม้จะปรับแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว หรือพีดีพีระยะยาว แต่กระทรวงพลังงานยังคงเป้าหมายสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเท่าเดิมที่ร้อยละ 20-25 ในปีนี้มีการแบ่งรางวัลเป็น 3 ประเภท โดยมีผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 9 รางวัล ดังนี้
1.ประเภทการดำเนินการด้านถ่านหินเป็นเลิศ (Best Practice Category) ได้แก่
– Mae Moh Lignite Mine จากเหมืองแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
– BLCP 2x 717MW Coal-fired Power Station จากบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด
– SKIC Closed-Sytem Coal Operation for Sustainable Development (Ban Pong Dome Coal Storage) จากบริษัท สยามคราฟอุตสาหกรรม จำกัด
2.ประเภทการมีส่วนร่วมต่อชุมชนและสังคม (Corporate Social Responsibility Catagery) ได้แก่
– The Environmental Collaboration for Sustainable Development in Mae Moh District จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
– TPIPL intend continuing commitment to CSR จากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน)
– Sustainable Social Participation of BLCP Coal Fired Power Plant จากบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด
– Asia Green Energy : Green Society จากบริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด(มหาชน)
3.ประเภทหัวข้อพิเศษ (Special Submission Category) ได้แก่
– Distribution Bunker Cleaning Equipment จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
– Specific energy consumption Improvement of kiln plant จากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) .-สำนักข่าวไทย