ภูมิภาค 2 ส.ค. – สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคอีสาน เริ่มทรงตัวและลดลงในบางจุด แต่พื้นที่เฝ้าระวังหลังจากนี้คือริมฝั่งแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี ซึ่งรับน้ำจากตอนเหนือของภาคผ่านแม่น้ำชี
ผู้ว่าฯ อุบลราชธานี พร้อมคณะ เข้าตรวจสอบปริมาณน้ำจากแม่น้ำมูลที่เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนท่าก่อไผ่ อ.วารินชำราบ พร้อมระดมกำลังนำกระสอบทรายมาทำแนวกั้นน้ำ ล่าสุดพบปริมาณน้ำในลำน้ำมูลสูงขึ้นวันละ 20 เซนติเมตร ส่วนระดับน้ำที่สะพานเสรีประชาธิปไตยอยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะมีน้ำชีมาสมทบ
ส่วนที่ชัยภูมิน้ำเริ่มลดลง โดยเฉพาะเขตรอยต่อ 4 อำเภอ ทั้งบำเหน็จณรงค์ จัตุรัส บ้านเขว้า และ อ.เมือง จุดดังกล่าวได้รับผลกระทบจากเขื่อนลำคันฉู บ้านเรือนมีน้ำท่วมขัง 1,000 หลัง และเนื่องจากเกิดน้ำท่วมขังนานนับสัปดาห์ ทำให้ชาวบ้านเริ่มป่วยเป็นโรคน้ำกัดเท้าและเน่าเสีย
ภาพมุมสูงแสดงให้เห็นระดับน้ำที่ท่วมขังนาข้าวและหมู่บ้านใน อ.ประทาย และ อ.โนนแดง แม้ภาพรวมระดับน้ำในนครราชาสีมาน้ำเริ่มลดลง แต่บางจุดยังเสียหายเป็นวงกว้าง ระดับน้ำลึก 1-3 เมตร
ส่วนที่ยโสธร หลังเขื่อนลำปาวปล่อยน้ำเพิ่มจากเดิม ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีเพิ่มสูง เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองยโสธรระดมกำลังนำเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง ไปติดตั้งริมน้ำ พร้อมจัดกำลังเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง หากน้ำล้นตลิ่งเตรียมเดินหน้าสูบน้ำออกทันที
สถานการณ์ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ระดับน้ำทรงตัว หลังเจ้าหน้าที่ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำลงสู่แม่น้ำโขง 8 ตัว เพื่อระบายน้ำจากลำน้ำก่ำ สามารถเพิ่มการระบายได้เป็นวันละ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร และผลดีจากแม่น้ำโขงลดลงทำให้ระบายน้ำได้คล่องตัวขึ้น
ส่วนพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง โดยเฉพาะลุ่มน้ำน่าน พบว่า 3 ตำบลใน อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร ถูกน้ำท่วมสูง 40 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร เพราะน้ำป่าจากเทือกเขาเพชรบูรณ์หลากลงคลองสาขาแม่น้ำน่านและระบายออกไม่ทัน ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ถูกน้ำท่วม
เช่นเดียวกับ จ.นครสวรรค์ ที่ต้องรับน้ำจากพิจิตรและกำแพงเพชร ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เอ่อล้นตลิ่งท่วมนาข้าวในบางจุดของ อ.ชุมแสง และ อ.เมือง ขณะที่ 30 หลัง ใน ต.บางพระหลวง มีน้ำท่วม 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร คาดสถานการณ์อาจรุนแรงขึ้นในอีก 1-2 วันนี้
และที่พระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่ขึ้นธงเหลือง เฝ้าระวังระดับน้ำในที่ประตูระบาน้ำคลองกระมัง และประตูระบายน้ำคลองหันตรา หลังพบปริมาณน้ำเหนือ โดยเฉพาะแม่น้ำป่าสักเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องปิดบานประตูระบายน้ำเพื่อไม่ให้น้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ และยังพบว่ามีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมตำบลหัวเวียง อ.เสนา เพราะเขื่อนเจ้าพระยาระบายมากขึ้น. – สำนักข่าวไทย