กทม. 30 ก.ค.-กรมชลประทานยอมรับคำนวณแม่น้ำป่าสักจะไหลมาถึงเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์คลาดเคลื่อน คาดมวลน้ำก้อนใหญ่จากแม่น้ำป่าสักจะใช้เวลาจาก อ.หล่มสัก ไปถึง อ.เมืองเพชรบูรณ์ ประมาณ 3-4 วัน
กรมชลประทานออกมาเตือนเรื่องปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสักว่าจะล้นตลิ่ง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ 50 เซนติเมตร และอาจถึง 1 เมตร ในที่ลุ่มต่ำ โดยคาดว่าปริมาณน้ำสูงสุดของแม่น้ำป่าสักจะมาถึงเทศบาลเมืองในเวลาช่วง 21.00 น. ทำให้เกิดความแตกตื่นในพื้นที่ แต่หลังจากนั้นกรมชลประทานออกมายอมรับว่าเกิดการคำนวณผิดพลาด
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แม่น้ำป่าสักจะมีต้นน้ำมาจากน้ำหนาว และมาจาก จ. เลย แถว อ.ด่านซ้าย มีลำน้ำมาบรรจบกันอยู่เหนือ อ.หล่มสัก ประมาณ 10 กม. ซึ่งน้ำดังกล่าวได้มาถึงเทศบาลหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ประมาณ 3 ทุ่ม ซึ่งได้ให้ข้อมูลแจ้งทางจังหวัดทราบอย่างต่อเนื่องว่าจะมีปริมาณน้ำมาถึง อ.หล่มสัก ประมาณ 3 ทุ่ม ก็มีการเตรียมการโดยการป้องกันและอุดท่อระบายต่างๆ ที่น้ำจะซึมเข้าไปได้ แต่ก็มีน้ำซึมเข้าพื้นที่บ้าง สูงประมาณ 20-30 ซม. ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าว จาก อ.หล่มสัก ใช้เวลาจนถึง อ.เมืองเพชรบูรณ์ ประมาณ 3-4 วัน แต่จุดที่มีน้ำท่วมซึมจะอยู่ที่ อ.หล่มสัก
ประเมินว่ามวลน้ำก้อนใหญ่จากแม่น้ำป่าสักจะใช้เวลาจาก อ.หล่มสัก ไปถึง อ.เมืองเพชรบูรณ์ ประมาณ 3-4 วัน ลักษณะการทำแนวป้องกันคือ มีแนวกำแพงอยู่แล้ว มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้พร้อม โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ จากที่ประเมินไว้ว่าน้ำจะมาถึงตัวเมืองเพชรบูรณ์ เป็นการซึมตามท่อ ระยะเวลาเดินทางของน้ำและเวลาไหลผ่านเมืองหรือชุมชนต่างๆ จะไปไวมาไว ลักษณะน้ำจะมีความลาดชัน แต่พื้นที่ที่อยู่ 2 ฝั่ง โดยเฉพาะพื้นที่เกษตร ก็มีการรั่วซึมออกไป มีการป้องกันไว้แล้ว
ส่วนที่สกลนคร อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นทำนบคันดินถูกน้ำกัดเซาะ กรมชลประทานได้ส่งเครื่องจักรเข้าไปทำการซ่อมแซมตลอดวัน คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะซ่อมแซมแล้วเสร็จ ส่วนน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น เมื่อน้ำล้นหรือผ่านตัวเขื่อนแล้วเข้าเขตเทศบาลเมืองนั้นไม่ใช่ น้ำจากห้วยทรายขมิ้นจะออกไป 2 ทิศทางคือ ไปทางน้ำอูน ลงน้ำอูนด้านท้ายเขื่อนน้ำอูน และส่วนหนึ่งจะไหลลงหนองหาน ส่วนที่ไหลลงหนองหานประมาณ 60% แล้วก็จะไปลงที่หนองหาน ไม่ได้ไหลผ่านเมืองสกลนครแต่อย่างใด
ส่วนการระบายน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจเทศบาลเมืองสกลนครนั้น ปริมาณน้ำที่มาจากเทือกเขาภูพาน น้ำจากเทศบาลจะต้องระบายลงหนองหาน ซึ่งน้ำหนองหานจะต้องระบายลงน้ำโขง โดยผ่านน้ำก่ำ ซึ่งน้ำก่ำมีปริมาณค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นวิธีที่จะระบายได้ดีคือทำอย่างไรน้ำจากหนองหานจะไปลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด นั่นก็คือติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำตามลำน้ำก่ำ ซึ่งมีประตูระบายน้ำอยู่ 6 ประตู .-สำนักข่าวไทย