กรุงเทพฯ 24 ก.ค. – รัฐ-เอกชนร่วมมือส่งเสริมการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ต่อยอดนวัตกรรม 3 ปี ยอดปรับขึ้นจากร้อยละ 0.2 เป็นร้อยละ 0.7 ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในอนาคต ด้านเอกชนระบุระเบียบรัฐหยุมหยิมเข้าถึงเม็ดเงินวิจัยยาก ล่าสุดไปจดสิทธิบัตรที่สิงคโปร์เร็วกว่า
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และอดีตผู้บริหารเอสซีจี กล่าวว่า การสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต้องเน้นเรื่องงานวิจัยและพัฒนาที่เป็นการสร้างความร่วมมือกับเอกชน เพื่อให้วิจัยและต่อยอดเชิงพาณิชย์นำมาจำหน่ายได้ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญและมีการกระตุ้นออกนโยบายจูงใจหน่วยงานรัฐและเอกชนให้ดำเนินการด้านนี้ ส่งผลให้การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.2 ของจีดีพี เป็นร้อยละ 0.62 ในปี 2558 และคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 0.7ในปี 2559 โดยภาคเอกชนให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นมีเม็ดเงินลงทุนเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ภาครัฐร้อยละ 30 ขณะที่นักวิจัยระดับปริญญาเอกของประเทศมีประมาณ 9,900 คนเป็นของภาคเอกชนประมาณ 700 คนเท่านั้นนอกนั้นเป็นของภาครัฐทั้งหมด
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมเป็นเรื่องที่ถูกต้อง งบด้านนี้ควรต้องเพิ่มขึ้น เอกชน เช่น เอสซีจีมีประมาณร้อยละ 1 ของยอดขาย หรือ 4,500 ล้านบาทต่อปีช่วยสร้างรายได้จากสินค้ามูลค่าเพิ่มที่นำไปต่อยอดต่างประเทศ ก็ให้ความสำคัญด้านนี้ เช่น หัวเหว่ยใช้เงินด้านนี้ถึงร้อยละ 14” นายกานต์ กล่าว
นายกานต์ กล่าวว่า การพัฒนางานวิจัยให้ประสบความสำเร็จต้องมองถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญด้วย นักวิจัยก็ต้องถ่ายทอดสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่วิจัยแล้วงานแตะต้องไม่ได้อยู่บนหอคอย รวมทั้งต้อง”พูดภาษาคนให้เข้าใจ” ในส่วนของนักวิจัยที่ส่วนใหญ่อยู่มหาวิทยาลัยก็ต้องปรับบทบาท เน้นไปทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น ความสำเร็จนั้นไปสู่การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ คือ การทำงานร่วมกับเอกชน เป็นสำคัญ
นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ กล่าวว่า สตาร์ทอัพปัจจุบันมีช่องทางระดมเพื่อพัฒนางานวิจัยมากขึ้น เช่น การระดมทุนในเอ็มเอไอ การระดมทุนแบบ CROWDFUNDING คือ การระดมทุนจากคนหมู่มากทีละเล็กน้อยผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งที่ผ่านมาการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างความสำเร็จให้สตารท์อัพหลายราย เช่น FORTH ILINK มีวงเงินไปขยายงาน นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยยังมีวงเงินร่วมทุนใน VENTURE CAPITAL FUND ประมาณ 20,050 ล้านบาทที่ภาครัฐ-เอกชนจัดตั้งขึ้นมา โดยนักวิจัยควรใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ โดยวงเงินนี้แยกเป็นกองทุนภาครัฐ 6,800 ล้านบาท แยกเป็นภาคธนาคารออมสิน, กรุงไทย และเอสเอ็มอีแบงก์ รายละ 2,000 ล้านบาท ตลาดหลักทรัพย์ฯ 700 ล้านบาท และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 100 ล้านบาท ส่วนภาคเอกชน 13,250 ล้านบาท ก็มาจากหลายหน่วยงาน เช่น เอสซีจี 3,000 ล้านบาท กลุ่ม ปตท. 1,500 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ รายละ 1,750 ล้านบาท เอไอเอส, ทรู, ธนาคารกสิกรไทย รายละ 1,000 ล้านบาท เป็นต้น
นายวิรุฬห์ ตัณฑะพาณิชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอล อาร์แอนด์ดี จำกัด ผู้ให้บริการร่วมงานวิจัย งานที่ปรึกษาและโรงงานต้นแบบด้านอุตสาหกรรมปิโตรเครมี กล่าวว่า การที่ภาครัฐให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีด้านงานวิจัยร้อยละ 300 และยังมีการลงทุนวิจัยร่วมในสัดส่วนครึ่งหนึ่งในวงเงินลงทุนวิจัยไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ดี เอกชนรายเล็กที่ไม่มีเงินลงทุนมาก สามารถจ้างเอกชน เช่น บริษัทของตน แล้วนำไปลดหย่อนภาษีได้ อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดเรื่องระเบียบการขอเม็ดเงินการวิจัยของภาครัฐ ขั้นตอนการจดสิทธิบัตร ระยะเวลาในการค้นหาข้อมูลด้านสิทธิบัตรของภาครัฐ มีผลต่อกระบวนการวิจัย ล่าสุดทางบริษัทจึงไปขอจดสิทธิบัตรที่หน่วยงานสิงคโปร์ เป็นงานวิจัยครั้งแรกของโลกนำพลาสติกใช้แล้วกลับมารีไซเคิลผลิตเป็นสารตั้งต้นและผลิตพลาสติกได้อีกครั้ง ต้นทุนต่ำกว่าการใช้วัตถุดิบใหม่ถึง 200 บาทต่อตัน นับเป็นความหวังในการกำจัดขยะพลาสติก ซึ่งขณะนี้กำลังพูดคุยกับเอกชนในไทยเพื่อสร้างโรงงานนำร่อง โดยปัจจุบันบริษัทมีรายได้ประมาณ 30-40 ล้านบาท/ปี ตั้งเป้า 100 ล้านบาทใน 3 ปีข้างหน้า และยังไม่เข้าจดทะเบียนในเอ็มเอไอ เนื่องจากข้อกำหนดทุนจดทะเบียนยังต่ำกว่าข้อกำหนดภาครัฐ.-สำนักข่าวไทย