รัฐสภา 20 ก.ค.- รองประธาน สนช. เผย รอที่ประชุมกมธ.ร่วมศึกษาโทษไพรมารี่โหวต อย่าเพิ่งคาดเดา
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการทบทวนข้อโต้แย้งของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จำนวน 5 ข้อที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งมาว่า คณะกรรมาธิการร่วมจะพิจารณาในข้อโต้แย้งของ กรธ.เป็นหลักว่ามีประเด็นใดที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ โดยศึกษารายประเด็น ซึ่งแนวทางขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากของที่ประชุมของคณะกรรมาธิการร่วม หากที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งก็จะต้องนำไปสู่การปรับปรุงบทบัญญัติของร่างเดิม ที่ผ่านวาระ 3 ของ สนช. แต่หากเห็นว่าข้อโต้แย้งนั้นไม่มีเหตุผลก็จะยังคงตามร่างเดิมของ สนช. ส่วนข้อเสนออื่น ๆ ก็นำมาประกอบการพิจารณาในที่ประชุมว่าข้อเสนอที่ส่งมานั้นตรงกับประเด็นที่ กรธ.โต้แย้งว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหรือไม่ ถ้าเชื่อมโยงจะสามารถนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงได้
ส่วนที่มีข่าวเรื่องแนวทางการลงโทษกรณีทุจริตไพรมารีโหวต ที่มีโทษถึงยุบพรรคการเมืองนั้น นายสุรชัย กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ในประเด็นที่ กรธ. โต้แย้งมา แต่ในร่างเดิมของ สนช.ไม่มีโทษในเรื่องของขั้นตอนไพรมารีโหวต อย่างในข้อโต้แย้งของ กรธ. ระบุว่า ในร่างดังกล่าวไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตในขั้นตอนของไพรมารีโหวต ซึ่งหากท้ายที่สุด ที่ประชุมกรรมาธิการร่วมจะเพิ่มการกำหนดโทษ ก็ต้องไปศึกษาเรื่องอัตราโทษก่อน อย่าเพิ่งคาดเดาว่าจะกำหนดโทษอย่างไร
เมื่อถามว่า หากมีการระบุว่า การทำไพรมารีโหวตเป็นกิจกรรมภายในพรรค ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง แล้วใครจะเป็นผู้รักษากฎหมายในกรณีการทุจริตนั้น นายสุรชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ต้องไปช่วยกันคิด หรือออกแบบ แต่ส่วนตัวเสนอ 2 แนวทาง คือให้ถือเป็นกิจกรรมภายในของแต่ละพรรคการเมือง ที่ต้องไปบริหารจัดการกันเอง เพื่อให้ได้ตัวแทนส่งเข้าสมัคร และรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือควรให้กกต. เข้าไปช่วยดูแลรับผิดชอบ แต่ถ้าเป็นกรณีนี้ก็เท่ากับเป็นการพิจารณาโดยใช้หลักไพรมารีโหวตเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ในกรอบหน้าที่ของ กกต. แต่หากมองว่า ไพรมารีโหวต ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการเลือกตั้ง กกต. ก็ไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ขอเวลาไปศึกษาแลกเปลี่ยนในที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมก่อน.-สำนักข่าวไทย