กรุงเทพฯ 20 ก.ค. – สุโขทัยเตรียมพร้อมรับมือน้ำในแม่น้ำยมไหลหลากจากแพร่ หลังกรมชลฯ เตือนระดับน้ำในแม่น้ำยมจะสูงขึ้น คาดพรุ่งนี้น้ำก้อนใหญ่จะมาถึงบริเวณเหนือ ปตร.แม่น้ำยม
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำยมบริเวณจังหวัดแพร่ ล่าสุด (20 ก.ค. ) ระดับน้ำในแม่น้ำยมตอนบนบริเวณอำเภอสอง ลดลงอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 8.04 เมตร และปริมาณน้ำก้อนใหญ่ไหลผ่านลงผ่านเขตเทศบาลเมืองแพร่ไปแล้วในช่วงเช้าของวานนี้ (19 ก.ค.) ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมบริเวณจังหวัดแพร่ มีแนวโน้มลดลง และไม่มีเหตุการณ์น้ำเอ่อลิ้นตลิ่งแต่อย่างใด
สำหรับปริมาณน้ำในแม่น้ำยมจากจังหวัดแพร่จะไหลลงสู่จังหวัดสุโขทัยเป็นลำดับ คาดว่าปริมาณน้ำจะมาถึงบริเวณจังหวัดสุโขทัยวันพรุ่งนี้ (21 ก.ค. 60) ซึ่งกรมชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เพื่อแจ้งสถานการณ์น้ำและเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือแล้ว ปัจจุบันทางจังหวัดสุโขทัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการเสริมกระสอบทราย (Bigbag) ในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยบริเวณที่ยังก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่งไม่เสร็จเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่กำลังจะมาถึง ในส่วนของกรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำหลากลุ่มน้ำยมก่อนไหลลงสู่ตัวเมืองสุโขทัย โดยการพร่องน้ำบริเวณเหนือประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำจากตอนบน พร้อมกับพร่องน้ำในคลองยมน่านแม่น้ำยมสายเก่าและแม่น้ำยมสายหลักลงสู่แม่น้ำน่านให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ เมื่อปริมาณน้ำดังกล่าวเดินทางมาถึงบริเวณด้านเหนือประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์จะทำการชะลอน้ำ โดยการผันน้ำเข้าคลองผันน้ำสวรรคโลก-พิชัย (ยม-น่าน) ผ่านประตูระบายน้ำหกบาทในอัตรา 100 ลบ.ม./วินาทีลงสู่แม่น้ำน่าน และควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่าน ปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์ ในอัตราไม่เกิน 500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจในเขตเมืองสุโขทัย
สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำยมในเขตอ.บางระกำและอ.พรหมพิรามจ.พิษณุโลกนั้น ขณะนี้อยู่ในช่วงเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือน้ำเหนือที่จะไหลหลากมาจากจังหวัดแพร่ เพื่อป้องกันน้ำล้นตลิ่ง เนื่องจากพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำยมนั้นยังคงมีพื้นที่นาข้าวที่กำลังรอการเก็บเกี่ยวร่วม 100,000 ไร่ จากการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ พบว่าบริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำยมสายหลักและแม่น้ำยมสายเก่า (คลองบางแก้ว ) ระดับน้ำในแม่น้ำยมสายหลักได้เพิ่มสูงขึ้นมากแต่ยังไม่ถึงจุดวิกฤติล้นตลิ่งในขณะที่น้ำในคลองบางแก้วหรือแม่น้ำยมสายเก่าก็ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติยังไม่มีน้ำล้นทางระบายน้ำล้น อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำที่จะไหลหลากลงมากอีก กรมชลประทาน ได้มีการพร่องน้ำในคลองสายหลักได้แก่แม่น้ำยมสายเก่า, คลองเมม-คลองบางแก้ว, คลองน้ำไหลพร้อมกับเร่งระบายน้ำในแม่น้ำยมผ่านทางคลองDR-2.8 และDR-15.8. ลงสู่แม่น้ำน่านต่อไป.-สำนักข่าวไทย