รร.พลาซ่าฯ 20 ก.ค. – รมว.คลังย้ำภาครัฐเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ดึงการลงทุนเอกชนตามในปีหน้า ยอมรับเงินลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ดึงภาระหนี้สาธารณะเพิ่มเป็นร้อยละ 49 ของจีดีพี ยืนยันอยู่ในกรอบความยั่งยืน พร้อมผลักดันร่างกฎหมาย PPP คาด 3 ปีข้างหน้าเงินลงทุนภาครัฐสัดส่วนร้อยละ 15 ของจีดีพี
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงานสัมมนา “Thailand Compettive 2017” ว่า การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเอกชน หากศักยภาพลดน้อยถอยลงจะอยู่ลำบากสู้กับคู่แข่งไม่ได้ ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศจึงมีความสำคัญไม่ต่างกับบริษัทเอกชนด้วยเช่นกัน เพราะหากอันดับลดลงจะแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ ยิ่งล้าหลังจะตามไม่ทันหลายประเทศที่มุ่งพัฒนา นายกรัฐมนตรีจึงสั่งหน่วยงานภาครัฐรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาอุปสรรค เพื่ออำนวยความสะดวกในการแข่งขันทุก 3 เดือน เพื่อหวังเพิ่มอันดับการแข่งขันของประเทศ
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลจึงกำหนดในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แก้ไขปรับปรุบอุปสรรคด้านต่าง ๆ และเดินหน้าวางแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ ขณะนี้เริ่มลงนามสัญญาจำนวนมาก เพื่อเดินหน้าทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือ จึงคาดว่าอันดับด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะดีกว่าอันดับ 40 อย่างแน่อน ยอมรับว่าช่วงแรกมีการเบิกจ่ายลงทุนน้อย แต่ปีหน้าภาครัฐจะลงทุนสูงขึ้นตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท ยอมรับทำให้ภาระหนี้สาธาณะต่อจีดีพีจากร้อยละ 42 เพิ่มเป็นร้อยละ 49 แต่จะควบคุมไม่ให้เกินร้อยละ 50 เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลัง คาดว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าการลงทุนภาครัฐจะมีสัดส่วนจากร้อยละ 7-8 ของจีดีพี เพิ่มเป็นร้อยละ 15 ของจีดีพีเท่ากับมาเลเซีย
รวมทั้งการดึงให้เอกชนลงทุนตามไปด้วย เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งมาก ทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศ การเกินดุลการค้าต่อเนื่องหลายปี เงินบาทแข็งค่าทำให้การชำระหนี้ดีขึ้น เป็นปัจจัยบวกต่อการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน รวมทั้งต้องการส่งเสริมเน้นการวิจัยและพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนต้องแน่นแฟ้น ต้องดึงเอกชนมาร่วมพัฒนาในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้รัฐบาลยังเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนแบบ PPP เพื่อแบ่งการรับความเสี่ยงร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน นำระบบ PPP Fastrack มาเป็นต้นแบบปรับแก้ไขกฎหมาย และแยกกฎหมายออกเป็น 2 ฉบับ ทั้งด้านการร่วมลงทุนเชิงพาณิชย์ และการใช้ที่ราชพัสดุนำมาพัฒนาทั้งที่เชิงพาณิชย์และเพื่อสังคม เตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย หากได้ข้อสรุปคาดว่าเสนอ ครม.พิจารณาในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า
รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงิน ผ่านนโยบายโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็ กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) เพื่อส่งเสริมให้สังคมใช้เงินสดน้อยลง เพื่อให้ร้านค้าขนาดเล็กรับชำระเงินผ่านบัตรเดบิตด้วยเครื่อง EDC และ QR Coce ในการตัดวงเงินจากบัญชีเงินฝาก จะสร้างประสิทธิภาพการใช้เงินของประเทศ เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนนับว่าไทยคืบหน้าไปมากแม้สิงคโปร์ยังเริ่มนโยบายดังกล่าวเหมือนกับไทย และเมื่อหลายหน่วยงานพัฒนาระบบข้อมูลบล็อกเซ็นเชื่อมโยงข้อมูล จะทำให้การพัฒนาโครงสร้างทางการเงินประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญรัฐบาลต้องเดินหน้าพัฒนาบุคคลากรรองรับความต้องการของหลายหน่วยงานและภาคเอกชนที่ต้องการแรงงานคุณภาพจากไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเล่าเรียน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ด้านไอที ซึ่งได้แทรกซึมไปในทุกวิชา
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธาน TMA Center For Competitiveness กล่าวว่า ไทยถูกจัดอันดับให้ดีขึ้นต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน และได้เลื่อนจากอันดับ 28 ขยับมาเป็นอันดับ 27 เมื่อหลายหน่วยงานเร่งรัดแก้ไขด้านต่าง ๆ น่าจะทำให้อันดับสูงขึ้นได้ในปีต่อไปและสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น.- สำนักข่าวไทย