กกต. 18 ก.ค.- กกต.มีมติเอกฉันท์ให้ศึกษาช่องทางส่งศาล รธน.วินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.กกต. ใน 2 ประเด็น จากที่เสนอมา 7 ประเด็น ภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่ “สมชัย” ไม่ฟันธงว่าจะยื่นส่วนตัว หลักกฎหมายบังคับใช้ พร้อมแก้ข่าวกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ค.61 อ้างแค่การประเมินของเจ้าหน้าที่ สื่อฯ เข้าใจผิดเอง
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงภายหลังการประชุม กกต. วันนี้ (18 ก.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้สำนักงาน กกต.พิจารณาช่องทางที่จะยื่นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ใน 2 ประเด็นจาก 7 ประเด็นที่มีการเสนอให้ที่ประชุม กกต.พิจารณา
นายสมชัย กล่าวว่า ประเด็นแรก คือ ให้ยื่นในประเด็น มาตรา 26 ของ พ.ร.ป. ตัดอำนาจ กกต.คนเดียวในการสั่งระงับยับยั้งเลือกตั้งได้ หากพบว่ามีการกระทำการที่เข้าข่ายเป็นการทุจริต โดยเห็นว่าไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 224 วรรคท้าย ที่กำหนดชัดเจนว่า กกต.คนเดียวมีอำนาจในการสั่งระงับยับยั้งการเลือกตั้งของหน่วยหรือเขตเลือกตั้งได้ และประเด็นที่ 2 คือ ให้ยื่นในประเด็นมาตรา 27 ของ พ.ร.ป. ที่ตัดอำนาจ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เอง ทั้งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 224 (1) บัญญัติให้ กกต.มีอำนาจทั้งจัด หรือมอบอำนาจให้หน่วยงาน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ได้
“ทั้ง 2 ประเด็นนี้ กกต.เห็นว่า หากประกาศใช้เป็นกฎหมาย จะเกิดผลเสีย นำไปสู่การตีความว่า บทบัญญัติขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และอาจมีปัญหาในแง่ของการปฎิรูปประเทศ ไม่สามารถทำให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม กกต.จึงเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าขัดรัฐธรรมนูญ” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า กกต.มอบหมายให้สำนักงานไปศึกษาช่องทางกฎหมายในการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในสัปดาห์นี้ หากมีช่องทางก็ให้เสนอต่อประธาน กกต.ลงนามทันที แต่ถ้าไม่มีช่องทาง ก็ให้รายงานต่อที่ประชุม กกต. ส่วนประเด็นอื่นๆ กกต.ไม่ติดใจที่จะส่งศาล โดยเฉพาะเรื่องเซ็ตซีโร่ กกต. เพราะถ้ายื่นก็จะทำให้สังคมเข้าใจว่า ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
นายสมชัย กล่าวว่า ที่ กกต.ไม่ใช้ช่องทางยื่นหนังสือผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าทั้ง 2 ช่องทาง เราไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ อีกทั้ง ที่ผ่านมา กกต.ได้แสดงความเห็นต่อสาธารณะแล้วว่า ร่างกฎหมายมีปัญหาอย่างไร ก็เพียงพอที่นายกรัฐมนตรีนำไปประกอบการพิจารณา ว่าสมควรที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ก่อนนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิของนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายบริหาร
นายสมชัย ยังกล่าวถึง การใช้สิทธิส่วนตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ถ้า กกต.คนใดเห็นว่าถูกกระทบสิทธิ ก็สามารถยื่นเรื่องไปได้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่ประชุม กกต.ไม่ได้มีการพูดคุยกันว่า ใครจะยื่นหรือไม่ยื่นอย่างไร แต่ถ้าจะยื่น ก็คงต้องยื่นเมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว เพราะเมื่อยังไม่บังคับใช้ ก็ยังไม่ถือว่าถูกละเมิดสิทธิ
“ส่วนตัวผมก็ยังไม่มีคำตอบ ว่าจะต้องยื่นหรือไม่ เพราะต้องรอจนถึงวันนั้นก่อนค่อยว่ากัน แต่ยืนยันว่า ถ้าจะยื่น ก็ไม่ได้ยื่นเพื่อให้ตัวเองอยู่ต่อ แต่จะยื่นเพื่อให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญนี้มีข้อความว่า พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน”นายสมชัย กล่าว
ส่วนกรณีมีกระแสข่าวว่า กกต.กำหนดวันเลือกตั้งในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 นายสมชัย ยืนยันว่า กกต.ยังไม่ได้มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่แท้จริง แผนงานดังกล่าว เป็นเพียงการประเมินของเจ้าหน้าที่ เพื่อเตรียมการภายใน ยังไม่เคยมีการเสนอให้ที่ประชุม กกต.ได้รับทราบ และว่า “ ไม่ได้เป็นปฏิทินการเลือกตั้ง ดังนั้น สื่อจึงอาจเข้าใจผิด” .- สำนักข่าวไทย