กกต. 17 ก.ค.-“สมชัย” แถลงเปิดแนวทางยื่นศาล รธน.ตีความร่าง พ.ร.ป.กกต. ปัดตอบหากมติ กกต.ไม่ยื่น จะยื่นเองหรือไม่ ชม “มีชัย” ร่างรัฐธรรมนูญดี เปิดช่องทุกฝ่ายยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ถ้าศาลไม่รับ ถือว่าสิทธิของคนไทยในรัฐธรรมนูญไม่มีจริง
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลืกตั้ง (กกต.) แถลงถึงช่องทางในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่า มีทั้งหมด 4 ช่องทาง โดยช่องทางแรก เป็นการยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 ( 2) ที่บัญญัติว่า ก่อนนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ เพื่อชี้ให้นายกรัฐมนตรีเห็นว่าหากให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ก็จะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
นายสมชัย กล่าวว่า ช่องทางที่ 2 กกต.มีมติในฐานะเป็นองค์กรอิสระยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (1) ที่กำหนดว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยกฎหมายหรือร่างกฎหมายว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ช่องทางที่ 3 คือกรรมการแต่ละคนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งจะยื่นได้เฉพาะประเด็นเซ็ตซีโร่ กกต. และช่องทางที่ 4 เป็นกรณีที่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศใช้บังคับแล้ว กกต.สามารถยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 ต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งช่องทางทั้งหมดจะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุม กกต.ในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ค.)
“ต้องรอดูมติที่ประชุม กกต.ในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ค.) ว่าจะเลือกช่องทางใด ซึ่งอาจจะเลือกดำเนินการมากกว่า 1 ช่องทางก็ได้ หรืออาจจะไม่ยื่นเลยก็ได้” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม มติ กกต.ในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ค.) จะไม่ผูกพันการยื่นตีความของ กกต.แต่ละคน ทั้งนี้ตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มีข้อดีที่ทำให้ประชาชนมีสิทธิ มีเสียงที่แท้จริง เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายสามารถช่วยตรวจสอบกฎหมายให้มีรอบคอบสมบูรณ์ ไม่ใช่การเอาชนะซึ่งกันและกัน เพราะที่ผ่านมา กกต.ได้ส่งความเห็นแย้งไปแล้วว่าร่างกฎหมายดังกล่าวหากนำไปสู่การปฏิบัติจะมีปัญหาเรื่องของการตีความ
เมื่อถามว่า หากที่ประชุม กกต. มีมติไม่ยื่นตีความ ส่วนตัวจะยื่นต่อรัฐธรรมนูญเองหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ตนยังไม่คิดอะไร และถึงตนจะยื่นก็ไม่ได้ยื่นเพื่อให้ตัวเองอยู่ต่อ แต่เป็นการยื่นเพื่อให้รู้ว่ารัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ประชาชนเพียงคนเดียวรู้ว่าสามารถยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
“เมื่อรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว กรธ.ก็บอกเองว่าประชาชนมีสิทธิยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ นี่ก็เป็นตัวอย่าง ถือเป็นการทดลอง อาจจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ประชาชนคนไทยจะสามารถใช้สิทธิเพื่อพิสูจน์ความศักดิสิทธิ์ของกฎหมาย หากศาลบอกว่าไม่สามารถยื่นคำร้องได้ ก็จะได้รู้ว่าสิทธิของประชาชนที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นอาจจะไม่เป็นจริง” นายสมชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย