สธ.13 ก.ค.-คณะกกก.ยกร่างกฎหมายบัตรทอง เผยสัปดาห์หน้าเตรียมเสนอข้อสรุปปรับแก้กฎหมายต่อรมว.สาธารณสุข เผย ประชาชนไม่ต้องร่วมจ่าย ณ จุดบริการ แต่ปรับแก้ให้แยกเงินเดือนออกจากงบรายหัว ส่วนจัดซื้อยามอบให้คณะกรรมอนุกรรมการต่อรองราคาบากลางแห่งชาติ ต่อรองยากำพร้า ยาราคาแพง ให้เท่าเทียมทั้ง 3 สิทธิ์
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวะพลา คณะกรรมการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการยกร่าง ฯที่มี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานฯ โดยที่ประชุมได้มีการประมวลผลการรับความคิดเห็นจาก 4 เวทีในแต่ละภาคซึ่งทำอย่างรอบด้าน มีการพิจารณาทั้ง 14 ประเด็น ยืนยันประชาชนไม่เสียสิทธิ์และได้ประโยชน์มากกว่าเดิม สำหรับข้อกังวลของกลุ่มภาคประชาชน และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 5 ประเด็นเห็นต่าง ยืนยัน ปรับแก้ตามข้อเท็จจริงของสภาพสังคมในปัจจุบัน และต้องการให้เกิดความเข้าใจตรงกันในสังคม
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า โดยเนื้อหาที่หารือไม่ได้มีการปรับแก่สิทธิการร่วมจ่ายของประชาชน ที่หลายฝ่ายกังวล ยืนยันจะไม่ให้มีการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ แต่ในระยะยาวเรื่องนี้จะต้องมีการทำศึกษาความยั่งยืนของระบบการเงินการคลังในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจะมี นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน
ส่วนใน 4 ประเด็นอื่นที่จำต้องปรับแก้ มี 1.การแยกเงินเดือนของบุคลากร ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว แต่ยังให้ทางสปสช. เป็นผู้คำนวณต้นทุน และค่าแรงการให้บริการเช่นเดิม เนื่องจากนำเงินเดือนของบุคคลากรมารวมกับงบประมาณรายหัว ทำให้ไม่เกิดความอิสระ และเห็นต้นทุนการบริหารจัดการชัดเจร ตรงกับสถานการณ์การเงินในปัจจุบัน
2.สัดส่วนคณะกรรมการ 2 ชุด ทั้งคณะกรรมการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานการบริการ และคณะกรรมการบริหาร เพิ่มจำนวนคณะกรรมการ อีกชุดละ 2 คน เป็นในสัดส่วนของภาคผู้ให้บริการมากขึ้น แต่ตัดในส่วนตำแหน่งของปลัดกระทรวงสาธารณสุขออกไป
3.ให้มีการเพิ่มการช่วยเหลือเยียวยาในของผู้ให้บริการ ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงาน เช่นเดียวกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบริการ
4.ส่วนเรื่องปัญหาการจัดซื้อยา ที่ภาคประชาชนกังวล ยืนยันไม่ได้มีการปรับแก้ให้เสียประโยชน์ แต่ต้องการให้มีการต่อรองราคายาเหมือนกันทุก 3 สิทธิ์ ทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากยากลุ่มนี้ ถือเป็นยาหายาก หรือยากำพร้า ราคาแพง เป็นการช่วยให้เกิดความเท่าเทียม 3 สิทธิ์ เนื่องจากที่ผ่านมาการให้สปสชจัดซื้อ ขัดกับหลักกฎหมาย การแก้กฎหมายจึงต้องนำกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วม แต่ยังให้สปสช.คิดคำนวณต้นทุนการจัดซื้อ ที่เหมาะสม แต่เมื่อโดยในปีงบประมาณ 2560 ยังให้สปสช. ดำเนินการจัดซื้อยาเช่นเดิม แต่ในปี งบประมาณ 2561 จะต้องตั้งเป็นคณะอนุกรรมการต่อรองราคายาแห่งชาติ ดำเนินต่อรองและจัดซื้อ
สำหรับขั้นตอนจากนี้จะเวียนเอกสารให้คณะกรรมการรับรองการประชุม จากนั้นจึงจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นจึงจะสามารถเปิดเผยข้อมูลได้ต่อสาธารณะชน
ส่วนภาคประชาชนที่ปักหลักชุมชน หน้าอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางกลับไปหลังประชุมเสร็จฯ ยืนยันเรื่องนี้ยังไม่จบ จะต้องมีการหารือกับ รมว.สาธารณสุขอีกครั้ง และไม่ขอดำเนินการเผาพริกเผาเกลือสาปแช่ง ส่วนผลไม้ก็ได้รับประทานหมดแล้ว .-สำนักข่าวไทย