สำนักข่าวไทย 12 ก.ค.-นักจิตวิทยา ห่วงสภาพจิตใจเหยื่อฆ่ายกครัว หวั่นป่วย มีบาดแผลในจิตใจ แนะสังคมญาติต้องร่วมประคับประคอง ขณะเดียวกัน กระแสวิพากษ์วิจารณ์คดี สามารถนำมาเป็นจุดชี้ป้องปรามความรุนแรงทางอาชญากรรมได้ หากมีบทลงโทษที่ชัดเจน
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีฆ่ายกครัว ว่า ห่วงสภาพจิตใจของเหยื่อที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ อาจทำให้ป่วยมีบาดแผลในจิตใจอย่างรุนแรง หรือPTSD มักพบในผู้ป่วย ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรง ในคดีสำคัญ เช่น สึนามิ ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ แต่สำหรับกรณีฆ่ายกครัวนี้ เป็นความอาชญากรรมรุนแรงระหว่างบุคคล ซึ่งนับว่าน่าเห็นใจเหยื่อมาก การช่วยเหลือเยียวยา ต้องฟื้นฟูสภาพจิตใจในระยะนี้ให้ดี มิเช่นนั้น อาจทำให้มีความฝังใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หวาดผวา กลัว นอนไม่หลับ หากมีเหตุการณ์ใกล้เคียงก็อาจกระทบต่อสภาพจิตใจได้ทันที
สำหรับระยะเฝ้าระวังที่ต้องจับตาใกล้ชิด คือภายใน 1 เดือน ขณะเดียวกัน สังคมชุมชน ญาติพี่น้องต้องให้กำลังใจ และคอยดูแลทำให้เกิดความรู้สึก เห็นใจ ร่วมเฉลี่ยทุกข์ ผ้ที่เป็นเหยื่อความรุนแรงแบบนี้จึงจะคลายความหวาดกลัว
ส่วนที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรงจากคดีดังกล่าวนั้น เห็นว่าเหตุความรุนแรงในลักษณะแบบนี้ สังคมอาจมองโหดเหี้ยม ซึ่งความจริงก็ถือเป็นพฤติกรรมทางอาชญากรรมทั่วไป แต่เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดการเลียนแบบ ก็ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีบทลงโทษที่แสดงให้สังคมเห็นในเชิงประจักษ์.-สำนักข่าวไทย