คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 9 ก.ค.- กรรมการปฏิรูปตำรวจ ระบุ ต้องศึกษาปัญหารอบด้าน ก่อนแยกงานสอบสวนให้เป็นอิสระ ยอมรับ เป็นไปได้แบ่งสัดส่วนตำรวจจังหวัด แต่ต้องไม่ให้ตำรวจกลายเป็นกองทัพของท้องถิ่น
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) กล่าวถึง สูตรการทำงาน 2-3-4 ของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ว่า เป็นกรอบการทำงาน 9 เดือนของคณะกรรมการ โดย 2 เดือนแรก จะเป็นการศึกษาข้อมูลที่คณะทำงานชุดต่างๆ ในอดีตได้เคยศึกษามาแล้ว ส่วนตัวได้เสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สกัดข้อมูลต่างๆ ออกมาเป็นข้อ เพื่อง่ายต่อการศึกษา
นายอมร กล่าวว่า จากนั้น 3 เดือนต่อมา เป็นกรอบเวลาที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้มีผลการทำงานออกมาเป็นรูปธรรม แบบที่ประชาชนต้องยกนิ้ว ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีจะหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตาม ม.44 ในการปฏิรูป ขณะที่ 4 เดือนต่อมา จะเป็นการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม
ส่วนข้อเสนอที่ให้แยกงานสอบสวนเป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นั้น นายอมร กล่าวว่า เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะต้องศึกษาและพิจารณา โดยต้องรับฟังความคิดเห็นจากตำรวจด้วย ยืนยันว่า ไม่ใช่ความเกรงใจ แต่ต้องรับฟังว่า หากแยกงานสอบสวน แล้วจะเกิดปัญหาหรือไม่ โดยเฉพาะความพร้อมของประเทศไทย อาจจะไม่เหมือนในต่างประเทศ เนื่องจากมีองค์กรที่มีความรู้มีความเชี่ยวชาญ ที่สามารถเค้นเอาพยานหลักฐานได้เทียบเท่ากับตำรวจ
“ยอมรับว่า แนวโน้มการรับสารภาพของผู้ต้องหา มักจะเกิดในนาทีแรกของการสอบสวน ซึ่งตำรวจอาจมีวิธีการซักไซร้ให้ผู้ต้องหายอมรับสารภาพได้ ขณะเดียวกัน ผมได้สอบถามไปยังอัยการเรื่องงานสอบสวน อัยการก็ตอบว่า อัยการทำได้ แต่ให้ทำขณะนี้ ทำไม่ได้” นายอมร กล่าว
นายอมร กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ไม่ได้ให้อัยการสอบสวน แต่อัยการก็ยังมีอำนาจที่ถ่วงดุลกับตำรวจอยู่แล้ว แต่คำถามคือ จะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงต้องนำความเห็นและการศึกษาทุกอย่างมาประมวล เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรม
“ยืนยันว่า คณะกรรมการชุดนี้ พิจารณาทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องเทคโนโลยี เพื่อการปราบปรามอาชญากรรม ดังนั้น วางใจคณะกรรมชุดนี้ได้ เชื่อมั่นว่า ทุกคนอยากแก้ปัญหาบ้านเมือง เรารู้ว่า ตำรวจมีปัญหาแน่ คิดว่ามีเชื้อไฟแน่นอน เมื่อมีปัญหาก็ต้องแก้ไข” นายอมร กล่าว
นายอมร ยังกล่าวถึง การลดการรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลางว่า การทำงานต่างๆ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงมหาดไทยก็มอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปดำเนินการหลายเรื่อง ซึ่งก็มีแนวคิดว่าจะแบ่งสัดส่วนตำรวจบางจุด ไปทำงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดหรือไม่ แต่ยังไม่ได้มีข้อสรุปใดๆ
นายอมร กล่าวว่า เบื้องต้นอาจจะมีกองบัญชาการในจังหวัดขึ้นตรงเพื่อประสานกับคีย์แมนต่างๆ ในจังหวัด แต่ก็ไม่ถึงกับจะแยกตำรวจออกไปให้อยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรื่องแนวทางให้มีตำรวจท้องถิ่น หรือแนวทางใด ก็มีความเป็นไปได้ทั้งหมด ซึ่งสุดท้ายก็ต้องนึกถึงประชาชนเป็นหลัก เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องมาร้องเรียนในภายหลังว่า ตำรวจกลายเป็นกองทัพของท้องถิ่น
ส่วนกรณีที่ให้ทหารเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ จะทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชนได้หรือไม่นั้น นายอมร กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า การขับเคลื่อนคนจำนวนมาก จะต้องอาศัยคนที่มีภาวะเป็นผู้นำ ได้รับความน่าเชื่อถือ จะเป็นทหารหรือพลเรือนก็ได้ ไม่ได้จะระบุว่า ทหารนั้นดีกว่าใคร แต่คุณสมบัติเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ มีคุณสมบัติครบถ้วน มีความสัมพันธ์ที่ทุกคนให้การเคารพและนับถือ มีบารมีและเป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้วย .- สำนักข่าวไทย