ภูมิภาค 12 ธ.ค.-สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ หลายจังหวัดเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ลุ่มแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี ยังคงวิกฤติหนัก
สภาพบ้านเรือนริม 2 ฝั่งแม่น้ำตาปี อ.บ้านนาเดิม และ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี บ้านเรือนยังคงถูกน้ำท่วมสูง หลังน้ำจากแม่น้ำตาปีเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วม เนื่องจากน้ำจาก จ.นครศรีธรรมราช และ จ.กระบี่ ไหลลงสู่แม่น้ำตาปีอย่างต่อเนื่อง และมีน้ำจากเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกรุงไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ตลาดไชยา วันนี้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่บางพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง ขณะที่หลายหน่วยงานออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม 8 อำเภอ พื้นที่ จ.ตรัง เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยกเว้น ต.บางรัก ต.นาท่ามใต้ ต.นาท่ามหนือ ต.หนองตรุด ต.นาโต๊ะหมิง และ ต.นาตาล่วง อ.เมือง ต.ควนธานี ต.โคกยาง และ ต.ย่านซื่อ อ.กันตัง บางจุดระดับน้ำยังท่วมสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านกว่า 100 หลังคาเรือน อพยพไปอยู่ภายในวัดแจ้ง ต.บางรัก สิ่งของเครื่องใช้ถูกน้ำท่วมเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะ ต.บางรัก มีน้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียและกองขยะ สำนักงานเทศบาลนครตรัง ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน ทำให้น้ำนิ่งและเริ่มส่งกลิ่นเหม็น เนื่องจากเกิดน้ำท่วมขังเกือบ 10 วัน ทำให้สภาพภายในหมู่บ้านเต็มไปด้วยขยะ วัดและโรงเรียนเขตเทศบาลนครตรัง หลายแห่งยังมีน้ำท่วมประมาณ 10-40 เซนติเมตร
ความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วม จ.สงขลา บริเวณพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา 4 อำเภอ ตั้งแต่ อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ และ อ.สิงหนคร ระดับน้ำเริ่มลดลงต่อเนื่อง ชุมชนคลองรี ชุมชนคูขุด อ.สทิงพระ ชุมชนเชิงแส อ.กระแสสินธุ์ และชุมชนบ้านมหาการ อ.ระโนด ยังมีน้ำท่วมและอยู่ในสภาพน้ำขัง โรงเรียนหลายแห่งซึ่งถูกน้ำท่วมอาจไม่สามารถเปิดเรียนได้ในวันพรุ่งนี้ (13 ธ.ค.) ขณะที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขัง เร่งระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลา
ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช สถานการณ์น้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังเจ้าหน้าที่เร่งเครื่องสูบน้ำและติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วม โดยเฉพาะสวนส้มโอทับทิมสยามเสียหายกว่า 2,000 ไร่ นอกจากนี้ พื้นที่น้ำท่วมขังยังเกิดภาวะน้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพชาวบ้านอย่างมาก
ขณะที่นายกรณรมย์ วรรณกุล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังตอนล่าง กล่าวว่า ขณะนี้ จ.นครศรีธรรมราช ยังมีน้ำท่วมขังพื้นที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เชียรใหญ่ และ อ.ปากพนัง กรมชลประทานได้เปิดประตูระบายน้ำทุกตัว เร่งระบายน้ำส่วนเกิน ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ที่ประตูระบายน้ำ ท่อระบายน้ำทุกแห่ง ลงแม่น้ำปากพนัง เร่งผลักดันน้ำลงสู่ทะเล
สำหรับพื้นที่ปลูกส้มโอทับทิมสยาม กรมชลประทานส่งรถขุดเข้าไปกำจัดวัชพืช เพื่อให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น ช่วยให้น้ำลดลงได้วันละ 8-10 เซนติเมตร คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน2-3 วัน ล่าสุดมีชาวบ้านจมน้ำเสียชีวิตอีก 1 ราย ทำให้จนถึงขณะนี้มีชาวบ้านจมน้ำเสียชีวิตแล้ว 12 ราย.-สำนักข่าวไทย