ทำเนียบรัฐบาล 7 ก.ค. – คณะกรรมการ กพย.เดินหน้าขยับอันดับความยั่งยืนของประเทศ หลังยูเอ็นจัดไทยอยู่อันดับที่ 55
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นฝ่ายเลขานุการ ที่ประชุม กพย.รับทราบการเตรียมวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ปี 2573 โดยสมัครใจของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อร่วมการประชุม High Level Political Forum 2017 on Sustainable Development ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา วันที่18-20 กรกฎาคม 2560 ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 44 ประเทศที่เข้าร่วมการรายงานผลการดำเนินงานวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังจากปี 2560 สหประชาชาติ (ยูเอ็น) จัดอันดับSDG ให้ไทยอยู่อันดับที่ 55 จาก 150 ประเทศ นับว่าไทยมีอันดับดีขึ้นกว่าปี 2549 ที่อยู่ในอันดับที่ 61 เนื่องจากไทยให้ความสำคัญด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน จึงได้บรรจุแผนไว้ในยุทธศาาสตร์ 20 ปี
ทั้งนี้ ที่ประชุมนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนและเป็นตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การปฏิรูปประเทศ แผนแม่บท และตอบสนองเป้าประสงค์ของยูเอ็นในเวลาช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ไทยพัฒนาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ด้วยการดำเนินการตามแนวทางศาสตร์พระราชาของรัชกาลที่ 9 ดังนั้น การขับเคลื่อนประเทศให้เกิดความยั่งยืนที่มีความหลากหลาย จึงเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้
นอกจากนี้ เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการจัดพื้นที่เป้าหมายขับเคลื่อนให้ชัดเจน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกมีความเหลื่อมล้ำมากและยังขาดความพร้อม กลุ่ม 2 มีศักยภาพ และกลุ่ม 3 มีความเข้มแข็งและขยายผลได้ ประเด็นสำคัญ คือ ต้องสร้างการรับรู้ หลักคิด เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้การขับเคลื่อนการดำเนินงาน SDG มีทั้งระดับ Macro ซึ่งเป็นระดับชาติ ระดับภาคและกลุ่มจังหวัด และในระดับ Micro คือ ระดับจังหวัด ท้องถิ่น และชุมชน เพื่อต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม และความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา.- สำนักข่าวไทย