กรุงเทพฯ 3 ก.ค. – การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยใน 5 เดือนแรกได้เปรียบดุลการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 โดยยางพารา มีมูลค่าส่งออกใน 5 เดือนแรกสูงถึง 98,000 ล้านบาทขยายตัวร้อยละ 61
นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยในปี 2560 ช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ว่า มีมูลค่าการค้า 718,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 โดยไทยส่งออก 552,291 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ไทยนำเข้า 166,659 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15 ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 385,632 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24
สำหรับมูลค่าสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของไทย ในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ของปี 2560 และตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ยางพารา มูลค่า 98,673 ล้านบาท (จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น อเมริกา) ข้าว มูลค่า 65,065 ล้านบาท (จีน เบนิน อเมริกา แอฟริกาใต้) มันสำปะหลัง มูลค่า 40,576 ล้านบาท (จีน) เนื้อไก่ มูลค่า 37,600 ล้านบาท(ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป) และกุ้ง มูลค่า 11,62 ล้านบาท(อเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม) รวมทั้ง ผลไม้ มูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท(อาเซียน ญี่ปุ่น ไต้หวัน)
อย่างไรก็ตาม ช่วง 5 เดือนแรกพบว่า ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยยังคงเป็น อาเซียน (ร้อยละ 26) มีสินค้าส่งออกที่สำคัญคือ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ ผลไม้ และยาง จีน (ร้อยละ 16) มีสินค้าส่งออกที่สำคัญคือ ยาง มันสำปะหลัง และข้าว ญี่ปุ่น (ร้อยละ 13) ซึ่งส่งออกอาหารปรุงแต่ง และยาง สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 11) ส่งออกอาหารปรุงแต่ง และยาง และสหภาพยุโรป (ร้อยละ 9) มีสินค้าส่งออกที่สำคัญคือ อาหารปรุงแต่ง ยาง และเครื่องปรุงอาหาร เป็นต้น
นอกจากนั้น การดำเนินการเจรจาให้คู่ค้ายอมรับมาตรฐานสินค้าเกษตร จึงมีตลาดส่งออกใหม่เพื่อรองรับความผันผวนของตลาดเดิม เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งได้กลับมาเริ่มส่งออกเนื้อไก่สด/แช่เย็น แช่แข็ง ได้อีกครั้งหนึ่ง โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าชนิดนี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 ประมาณ 91 ล้านบาท และการเจรจาเปิดตลาดด้านมาตรฐานของสินค้าปลาและสัตว์น้ำในตลาดรัสเซีย และเม็กซิโก มูลค่าการส่งออกสินค้าชนิดนี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 ประมาณ 179 ล้านบาท และ 19 ล้านบาท ในทั้งสองตลาดใหม่ ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ไทยสามารถไต่อับดับการส่งออกสินค้าเกษตรในตลาดโลกขึ้นมาได้โดยตลอด โดยจากลำดับที่ 9 ในปี 2555 ขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกลำดับที่ 7 ในปี 2558 รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา บราซิล จีน แคนาดา และอินโดนีเซีย และในอนาคตถือว่ามีโอกาสขยับขึ้นไปเป็นลำดับที่ 6 ได้แน่นอน หากสามารถรักษามาตรฐานการผลิต และเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง
ด้านนายธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาที่จะมาถึง กระทรวงเกษตรฯโดยคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ประชาชนหันมาบริโภคนมซึ่งปัจจุบันคนไทยบริโภคนม 18 ลิตรต่อคนต่อปี และกำลังผลักดันให้เพิ่มขึ้นถึง 25 ลิตรต่อคนต่อปี นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาซึ่งมีวันหยุดยาว 3 วันทางองค์การส่งเสริมกิจการโคนม หรือ อ.ส.ค.ได้จัดตั้งศูนย์บริการประชาชนเพื่อลดอุบัติเหตุการจราจร 2 จุดบริเวณ อ.ส.ค.มวกเหล็ก ถนนมิตรภาพ จ.สระบุรีและบริเวณเส้นทางลงพื้นที่ภาคใต้ บริเวณ อ.ส.ค.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทั้งใช้ผลิตภัณฑ์นมเป็นเครื่องดื่มเพิ่มความสดชื่นให้แก่ประชาชนผู้สัญจรไปมา –สำนักข่าวไทย