เมืองทองธานี 3 ก.ค. – นายกรัฐมนตรีดึงทุกภาคส่วนขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ 12 มุ่งไทยแลนด์ 4.0 ขณะที่ สศช.ชูแผนผลักดันจีดีพี ดูแลผู้สูงอายุ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้เพิ่ม 8,200 ดอลลาร์สหรัฐ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในการประชุมประจำปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง “ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย ” ว่า ทุกภาคส่วนต้องมุ่งมั่นพัฒนาแผนพัฒนาฉบับที่ 12 ไปสู่ความสำเร็จ หลังจากรัฐบาลแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางกฎหมาย เพื่อมุ่งสู่ประเทศพัฒนาแล้ว โดยต้องการพัฒนานิสิตนักศึกษาให้มีศักยภาพด้วยการนำลงพื้นที่หาประสบการณ์ต่างจังหวัดมาปรับใช้ผ่านเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ มุ่งพัฒนาดิจิทัลผ่านการใช้ฐานความรู้ จึงต้องการให้ทุกภาคส่วนร่วมกับขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ให้บรรลุผลสำเร็จ
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า รัฐบาลต้องการดึงทุกภาคส่วนทั้งคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรประเทศ (สปท.) หน่วยงานภาครัฐ องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ประชาชน พัฒนาและขับเคลื่อนแผนฯ 12 ให้บรรลุเป้าหมายช่วงปี 2560-2579 นับเป็นแผนพัฒนาฯ ฉบับแรกของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐบาลจึงมุ่งขับเคลื่อน 6 กลุ่มหลักเร่งด่วน ได้แก่ 1. การพัฒนาศักยภาพไทยเพื่ออนาคตประเทศให้เรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ 2.การนำนวัตกรรมสู่อนาคตประเทศไทย 3.การนำประยุกต์ใช้ในภาคการผลิต การค้าบริการ เกษตรกรยุคใหม่ใช้เทคโนโลยีมาปรับใช้ 4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ หวังเชื่อมโยงอนุภูมิภาค อุตสาหกรรมต่อเนื่อง 5.การพัฒนาส่วนราชการผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลรองรับการให้บริการอย่างรวดเร็ว และ 6.การขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่ภาคและเมืองสู่อนาคต หวังบริการจัดการพื้นที่เศรษฐกิจ เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค
สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ 12 รัฐบาลกำหนดเป้าหมายจีดีพีเติบโตร้อยละ 5 ต่อปี รายได้ 8,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี จากปัจจุบัน 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ การยกเลิกปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย มุ่งเน้นการเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุ ผ่านการพัฒนาที่อยู่อาศัยโครงการบ้านประชารัฐ การพัฒนาทักษะอาชีพ การแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ส่งเสริมเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกร
นายปรเมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลมุ่งหวังพัฒนาสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้การจัดอันดับความสามารถการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดย World Economic Forum (WEF) พบว่าไทยมีคะแนนรวมสูงขึ้นจาก 4.2 คะแนนในปี 2558 เป็น 4.4 คะแนนในปี 2559 อันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกนั้น ไทยอยู่ในอันดับที่ต่ำลงจากอันดับที่ 19 จาก 183 เขตเศรษฐกิจในปี 2554 มาเป็นอันดับที่ 49 จาก 189 เขตเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 9 ของเอเชีย และอันดับที่ 3 ของอาเซียนในปี 2559
ขณะที่การใช้สิทธิประโยชน์จากการตกลงทางการค้าเสรีต่อมูลค่าการส่งออกรวมมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 72.21 ในปี 2558 เหลือเป็นร้อยละ 56.47 ในปี 2559 ใกล้เคียงเป้าหมายที่กำหนดให้มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีต่อมูลค่าการส่งออกรวมร้อยละ 50 ในปี 2559 อัตราการเติบโตของมูลค่าการค้าชายแดนไทยกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ มาเลเซีย เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชายังไม่บรรลุเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของมูลค่าการลงทุนโดยตรงของไทยในประเทศเพื่อนบ้านบรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้การลงทุนโดยตรงของไทยในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านต้องขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี.-สำนักข่าวไทย