เชียงใหม่ 1 พ.ย. – กระเป๋า หรือถุงผ้า หนึ่งในของใช้คู่กายที่ใครหลายคนต้องมีติดตัวไว้เสมอ วันนี้จะพาไปรู้จักกลุ่มผู้ผลิตกระเป๋าผ้าแบบไม่ธรรมดา ในชุมชนเล็กๆ ท่ามกลางขุนเขาของ อ.แม่ระมาด จ.ตาก
เส้นด้ายจากฝ้ายบางเส้นแล้วเส้นเล่า ถักทอสอดสานผ่านเครื่องมือทำด้วยไม้แบบโบราณ ที่สืบทอดจากภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์ของบรรพบุรุษชนเผ่ากะเหรี่ยง หรือปกากะญอ จากรุ่นสู่รุ่น ยาวนานนับสิบนับร้อยปี ตามประเพณีของชนเผ่าปกากะญอ ที่จะทอผ้าทำเครื่องแต่งกาย กระเป๋าย่าม และของใช้ต่างๆ ไว้ใช้เอง หรือมอบให้ญาติมิตรในโอกาสพิเศษ
กว่าจะได้ผ้าแต่ละผืน ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจ ใช้เวลาราว 3-4 วัน และเมื่อระบบทุนนิยมและสังคมแบบคนเมืองเริ่มคืบคลานเข้ามา ผ้าทอปกากะญอก็ค่อยๆ เลือนหายไป เหลือผู้สืบทอดเพียงไม่กี่ราย
หลังเรียนจบคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และใช้ชีวิตทำงานในเมืองอยู่หลายปี ธีรนารถ แบร์ทิล์ลิเย่ หรือ “ช้างม่อย” พาครอบครัวย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิด ที่หมู่บ้านป่าไร่เหนือ ต.พระธาตุ อ.แม่ระมาด จ.ตาก เพื่อดูแลบุพการีที่อายุมากขึ้น พร้อมกับนำความรู้บวกใจรักในงานตัดเย็บและออกแบบกระเป๋าผ้า มาถ่ายทอดสู่ชุมชนชาวปกากะญอ
ชื่อแบรนด์ Jai Tam “ใจทำ” สะท้อนถึงความตั้งใจของกลุ่มกระเป๋าผ้าทอปกากะญอ ที่จดทะเบียนเป็นสินค้าโอท็อป มีสมาชิกสาวๆ ในหมู่บ้าน 17 คน แบ่งหน้าที่กัน ทั้งทอผ้าอยู่ที่บ้าน แล้วนำมาส่งให้กลุ่มตัดเย็บ ตามที่ช้างม่อยออกแบบและแนะนำ
กระเป๋าผ้าทอปกากะญอ “ใจทำ” เป็นงานฝีมือ Hand Made ทุกใบ นอกจากช่วยสร้างงาน เป็นรายได้เสริมให้ชุมชนในพื้นที่ห่างไกลแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่า และอนุรักษ์งานฝีมือภูมิปัญญาของชนเผ่าปกากะญอให้คงอยู่สืบไป. – สำนักข่าวไทย