กรุงเทพฯ 26 มิ.ย. – อดีตผู้ว่าฯ ธปท.ห่วงปัญหาหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์–หนี้อสังหาริมทรัพย์ เป็นจุดเสี่ยงเศรษฐกิจไทย แนะเร่งแก้หวั่นซ้ำรอยปี 40
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา “20 ปีวิกฤติต้มยำกุ้ง : อดีตสู่อนาคต” ว่า หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ทุกฝ่ายมีบทเรียนและทำงานอย่างหนักจนเศรษฐกิจไทยมีสมดุล มีดุลบัญชีเกินสะพัด มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง แต่ประเทศไทยไม่ควรประมาท อย่าชะล่าใจ เพราะวิกฤติเกิดขึ้นได้ตลอด โดยเฉพาะเมื่อพูดว่าไม่มีวิกฤติ โดยจุดที่ต้องจับตามองคือความมั่นคงของสหกรณ์ออมทรัพย์ เพราะปัจจุบันผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ให้ความสำคัญเรื่องข้อมูลหนี้ของสมาชิก ทั้ง ๆ ที่ผ่านมาได้ให้สหกรณ์ออมทรัพย์เข้ามาเป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร แต่สหกรณ์ส่วนใหญ่กลับไม่นำข้อมูลเครดิตมาใช้ในการพิจารณาปล่อยกู้และยังปล่อยสินเชื่อโดยไม่ระมัดระวัง ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงลักษณะเดียวกับวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540
นอกจากนี้ ยังแสดงความเป็นห่วงการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่พบว่าสถาบันการเงินบางแห่งปล่อยสินเชื่อโดยไม่มีธรรมาภิบาล เช่น ปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้โดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ ลูกหนี้บางรายมีสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้เต็ม 100 % แต่ยังปล่อยสินเชื่อให้เป็นการสะท้อนว่าไม่มีวัฒนธรรมการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ควรมองข้ามและควรใช้จังหวะที่เศรษฐกิจไทยแข็งแรงแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้จบ
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยทุกภาคส่วนไม่มีสัญญาณฟองสบู่ที่จะเกิดวิกฤติ แต่ยังมีจุดเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยต้องแก้ไขในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากประเทศไทย 3.0 เป็นประเทศไทย 4.0 ว่าจะสามารถนำนวัตกรรมมาใช้ เพื่อการปรับเปลี่ยนและการปฏิรูปได้หรือไม่ ต้องปฏิรูปทั้งระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ การศึกษา เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีความกังวลเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณฟองสบู่ในเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป จีน เริ่มตั้งแต่ประเทศมหาอำนาจใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE ถ้าประเทศมหาอำนาจเหล่านี้มีปัญหา สุดท้ายจะกระทบไทยทางอ้อม .- สำนักข่าวไทย