กรุงเทพฯ 21 มิ.ย. – โรงไฟฟ้ากระบี่พร้อมรับซื้อน้ำมันปาล์มผลิตไฟฟ้า เร็วสุดใน 2-3 สัปดาห์หน้า ประมาณ 400 ตันต่อวัน ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ สผ.ให้ทำแผนสิ่งแวดล้อมนับหนึ่งใหม่ ส่อแววต้องประมูลก่อสร้างใหม่ทั้งหมด ส่วน ENERGY STORAGE กฟผ.จะเริ่มประมูลตัวแรก ส.ค.นี้
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้ากระบี่พร้อมที่จะร่วมช่วยเหลือเกษตรกรแก้ไขปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ โดยสามารถรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบได้เร็วสุด 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากต้องดำเนินการตามขั้นที่รัฐกำหนด คือ ขออนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ ครม. เพราะการใช้ปาล์มจะมีผลกระทบต่อต้นทุนไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยหลักเกณฑ์จะเข้ามารับซื้อเมื่อราคาน้ำมันปาล์มดิบต่ำกว่า 25 บาทต่อลิตร รับซื้อประมาณร้อยละ 23 ของการใช้น้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือน่าจะอยู่ที่ประมาณ 400 ตันต่อวัน โดยก่อนหน้านี้ กฟผ.เคยร่วมรับซื้อน้ำมันปาล์มปริมาณไม่เกิน 15,000 ตันต่อปี และมีส่วนผลักดันทำให้ราคาผลปาล์มดิบสูงขึ้นเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร
นายสหรัฐ กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ทำหนังสือแจ้งถึงการดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่และท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วแล้ว จากที่นายกรัฐมนตรีสั่งยกเลิกการศึกษาของเดิม โดยแจ้งให้ทราบว่าต้องเริมทำใหม่ทั้งหมด การศึกษาจะใช้เวลา 2 ปี และถ้าได้รับความเห็นชอบก็จะใช้เวลาก่อสร้างอีก 4 ปี หรือเริ่มก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2562 ก่อสร้างเสร็จปี 2566 ดังนั้น กฟผ.จึงสอบถามผู้ที่ประมูลก่อสร้าง โดยในส่วนอิตัลไทยมารีนผู้ก่อสร้างท่าเทียบเรือแจ้งว่าไม่สามารถยืนยันราคาเดิมที่ประมาณ 9,000 ล้านบาทได้ ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามูลค่า 32,000 ล้านบาท ที่กลุ่มกิจการร่วมค้าระหว่างบริษัท พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น ออฟ ไชน่า และ บมจ. อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลลอปเม้นท์ ขณะนี้ยังไม่ตอบมาว่าจะยืนราคาหรือไม่ หากแจ้งว่าไม่ยืนราคาเดิมก็ต้องเริ่มกระบวนการประมูลใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับความมั่นคงในภาคใต้ในขณะนี้กำลังศึกษาเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯ จะนะโรงที่ 3 กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์
นายสหรัฐ เปิดเผยด้วยว่า เดือนสิงหาคมนี้ กฟผ.จะเปิดประมูลก่อสร้างระบบกักเก็บพลังงาน Energy Storage เป็นรายแรกของประเทศ เพื่อนำร่องศึกษาให้กับประเทศรองรับการส่งเสริมพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้น โดยของ กฟผ.จะก่อสร้างที่สถานีไฟฟ้าย่อยบำเหน็จณรงค์จังหวัดชัยภูมิ 16 MWh (เมกะวัตต์อาวน์) รองรับพลังงานลมและสถานีไฟฟ้าย่อยชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี 21 MWh เงินลงทุนรวมประมาณ 1,300 ล้านบาท โดยเม็ดเงินลงทุนต่ออยู่ที่ประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อการเก็บไฟฟ้า 1 MWh
นายสหรัฐ ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้สัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ลดลงเหลือร้อยละ 37-38 ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ได้รวมพลังงานทดแทนไว้ด้วย และปลายแผนกำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 2579 สัดส่วนจะเหลือร้อยละ 35 ซึ่งในส่วนนี้อาจจะไม่มีสัดส่วนเหมือนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าภาครัฐควรมีสัดส่วนในโครงสร้างพื้นฐานร้อยละ 50 โดยกรณีก็มีการตีความกันว่าโครงสร้างพื้นฐานนั้นคือสายส่งเท่านั้นหรือไม่.-สำนักข่าวไทย