กรุงเทพฯ 21 มิ.ย. – กกพ.เตรียมเก็บเงินค่าสำรองไฟฟ้ารายเดือนจากผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป เหตุชาวบ้านส่วนใหญ่จ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นเพื่อสำรองไฟฟ้าให้กลุ่มนี้ กฟผ.ชี้ต่างประเทศเริ่มเก็บแล้ว 300 บาท/เดือน พร้อมเดินหน้าพลังงานทดแทน 2 พันเมกะวัตต์ 1.5 แสนล้านบาท และส่งเสริมอู่รถยนต์ดัดแปลงรถเก่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
นายพฤหัส วงศ์ธเนศ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ส่งเสริมนวัตกรรมหลายแบบ เช่น การวิจัยรถยนต์ไฟฟ้าส่งเสริมรถยนต์เก่าติดตั้งชุดอุปกรณ์ดัดแปลง(conversion kit) ประมาณ 200,000 บาท และติดตั้งแบตเตอรี่ 150,000 บาท โดยจะเผยแพร่ความรู้ซึ่งร่วมวิจัยกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) แล้วจะส่งเสริมให้อู่รถยนต์รับติดตั้งเองได้เหมือนกับการดัดแปลงรถยนต์ติดก๊าซฯ ซึ่งผลวิจัยปัจจุบันชาร์จไฟแบบธรรมดา 1 ครั้ง วิ่งได้100 กม.
“กฟผ.ร่วมมือกับเนคเทควิจัยสู่การพัฒนาฯ เชิงพาณิชย์ และนำไปใช้ได้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีการทดลองทั้งรถยนต์นั่งอีโคคาร์ รถกระบะ และรถบัส คาดว่าจะสามารถตั้งศูนย์บริการดัดแปลงรถยนต์ภายในปี 2563 และจัดอบรบถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการจัดทำคู่มือเผยแพร่แก่อู่ เพื่อดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า โดยในอนาคตคาดว่าอุปกรร์ต่าง ๆ จะถูกลง” นายพฤหัส กล่าว
นายพฤหัส กล่าวด้วยว่า กฟผ.วางแผนวิจัยและผลิตพลังงานทดแทน 2,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2579 วงเงินลงทุนรวม 150,000 ล้านบาท โดยในส่วนนี้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ซึ่งการลงทุนจะมีทั้งร่วมทุนกับเอกชนตาม พ.ร.บ.การร่วมทุนให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ และการดำเนินโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชพลังงานตามโครงการประชารัฐ โดยแผนงานประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยชุมชน 50 เมกะวัตต์ พลังความร้อนใต้ภิภพ 2 เมกะวัตต์ ชีวมวล 598 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 56 เมกะวัตต์ น้ำ 165 เมกะวัตต์ ลม 230 เมกะวัตต์ และแสงอาทิตย์ 900 เมกะวัตต์
นายพฤหัส กล่าวว่า แนวโน้มประเทศไทยจะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคณะกรรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มองว่าจะกระทบต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจะจ่ายเพิ่มขึ้น เพราะระบบรวมต้องแบ็คอัพไฟฟ้าให้ผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป ดังนั้น กกพ.กำลังพิจารณาเก็บค่าแบ็คอัพหรือสำรองไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งขณะนี้มีผู้ผลิตแล้ว 100-200 เมกะวัตต์ โดยในสหรัฐอเมริกามีการเริ่มเก็บแล้ว บางรัฐเก็บแบ่งเก็บเป็นอัตราบ้านและโรงงานอุตสาหกรรม โดยบ้านเก็บอัตรา 3-10 ดอลลาร์สหรัฐ (34-340 บาท ) ต่อเดือน
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าฯ กฟผ. กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังปรับ 5 แผนพลังงาน กฟผ.รอดูว่าสุดท้ายแผนจะเป็นอย่างไร โดยปัจจุบันแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) ว่า แผน AEDP 2015 ตั้งเป้าให้ไทยมีกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ ดังนั้น กฟผ. ซึ่งมีหน้าที่รักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ จึงต้องดูแลให้การเพิ่มเข้าสู่ระบบของพลังงานทดแทนในปริมาณมากเช่นนี้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของพลังงานทดแทน ขณะที่เทคโนโลยีการผลิตยังไม่เสถียร ทำให้จำเป็นต้องมีการเตรียมการรองรับที่ดี และปัจจุบันยังมีผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่ยังคงพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งลักษณะนี้เริ่มมีมากขึ้น ทำให้ระบบไฟฟ้าต้องเตรียมกำลังผลิตเพื่อสำรองไฟฟ้าเผื่อไว้ให้ตลอด 24 ชั่วโมง อันจะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวม
นอกจากนี้ ระบบไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นระบบสะท้อนต้นทุนจริงที่เกิดขึ้นทั้งระบบและเป็นระบบประกันการลงทุน จึงมีการจ่ายค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) เสมือนการจ่ายค่าเช่าเครื่องตลอดอายุโรงไฟฟ้าประมาณ 25 ปี ซึ่งเป็นการเฉลี่ยมูลค่าการลงทุนไป 25 ปี ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าลงทุนในอนาคตร่วมกันด้วย การมีผู้เดินออกจากระบบไปผลิตไฟฟ้าใช้เอง จึงเท่ากับทิ้งภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบในอนาคตไว้ให้กับคนที่ยังอยู่ในระบบอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรปเช่นกัน ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวต่างจากหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ใช้ระบบตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า (Power Pool) เป็นการแข่งขันด้านราคาที่ประชาชนมีสิทธิเลือกซื้อ เมื่อพลังงานทดแทนที่ได้รับการอุดหนุนเข้ามาในระบบจะทำให้โรงไฟฟ้าในระบบเดิมต้องลดการผลิต มีผลให้ต้นทุนต่อหน่วยผลิตสูงขึ้น ผู้ประกอบการก็จะขึ้นราคาเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ ทำให้ปัจจุบันค่าไฟฟ้าในระบบ Power Pool สูงมากถึง 5 – 13 บาท และบางประเทศมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มกับผู้ที่ออกจากระบบไปผลิตไฟฟ้าใช้เอง
“แต่เดิมโรงไฟฟ้าฟอสซิลเป็นโรงไฟฟ้าที่ช่วยรองรับความไม่เสถียรของพลังงานทดแทน แต่เมื่อมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามามากขึ้นจะเกิดปัญหาระบบขาดพลังงานไฟฟ้าอย่างทันทีในช่วงแสงอาทิตย์หมด กล่าวคือ ทำให้กราฟการใช้ไฟฟ้ารายวันเปลี่ยนจากรูปหลังอูฐเป็นรูปหลังเป็ด (Duck Curve) จำนวนโรงไฟฟ้าฟอสซิลที่มีอยู่อาจมีสมรรถนะไม่พอที่จะรองรับความไม่เสถียรช่วงนี้ได้ จึงจำเป็นจะต้องติดตั้ง Battery Storage ช่วยเสริมระบบ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ กฟผ.เสนอปรับแผน PDP ใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับการพัฒนาพลังงานทดแทนเข้ามาในระบบให้ได้มากขึ้น” ผู้ว่าฯ กฟผ. กล่าว.-สำนักข่าวไทย