กรุงเทพฯ 12 มิ.ย. – ผู้ให้บริการ OTT แข่งขันแพร่ภาพรายการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รับกระแสทีวีออนไลน์เป็นทางเลือกสำหรับผู้ชม คาดรายได้ค่าโฆษณาปีนี้โตร้อยละ 20-24
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า การชมรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์ของคนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นการชมแบบไม่เสียเงิน โดยเป็นการชมรายการทีวีบนแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอื่นนอกเหนือจากโครงข่ายวิทยุ-โทรทัศน์แบบเดิม หรือ Over-the-Top (OTT) เช่น กลุ่มผู้ให้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์ค และกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่นำรายการทีวีมาแพร่ภาพผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งผู้ให้บริการกลุ่มดังกล่าวมีรายได้จากค่าโฆษณา คาดว่ารายได้ค่าโฆษณาของผู้ให้บริการกลุ่ม OTT ปี 2560 น่าจะอยู่ที่ 6,000-6,200 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 20-24 จากในปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมการชมรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 1-22 พฤษภาคม 2560 พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 64 ชมรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างอีกร้อยละ 36 ไม่ได้ชมรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ชมรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์ส่วนใหญ่ร้อยละ 49 ระบุว่าการถ่ายทอดสดรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์ (Live) มีผลให้เปลี่ยนพฤติกรรมการดูรายการทีวี นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างที่ชมรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์ส่วนใหญ่ร้อยละ 55 ระบุว่าการแพร่ภาพรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์เพียงช่องทางเดียว โดยไม่แพร่ภาพผ่านโทรทัศน์มีผลให้เปลี่ยนพฤติกรรมการดูรายการทีวี จากการดูผ่านโทรทัศน์เป็นหลักมาสู่การดูผ่านช่องทางออนไลน์บ้างในบางครั้งเฉพาะรายการที่สนใจ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในปัจจุบันแม้ผู้ชมมีทางเลือกในการชมรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์ แต่การชมรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ค่าใช้จ่ายในการสมัครสมาชิกหรือการชมรายการบางประเภท การจำกัดความเร็วในการใช้งานแพ็คเกจอินเทอร์เน็ต คอนเทนต์รายการทีวีบางประเภทที่ยังตอบโจทย์ผู้ชมเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะยังชมรายการทีวีผ่านโทรทัศน์เป็นช่องทางหลัก.-สำนักข่าวไทย