กทม. 8 มิ.ย. – จากปัญหาสถานพยาบาลในเครือประกันสังคมต้องแบกรับต้นทุนค่ารักษาเพิ่มขึ้น จนกระทบการให้บริการ ล่าสุด บอร์ดประกันสังคมมีมติเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ มีผล 1 กรกฎาคมนี้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ
แพทย์วินิจฉัยไม่ละเอียด รอนานหลายชั่วโมง คือปัญหาที่กัญฐิกา วัย 46 ปี พนักงานประจำ หนึ่งในผู้ประกันตนสะท้อนกับทีมข่าว หลังเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งตามสิทธิประกันสังคม เธอเคยป่วยเป็นโรคปอดรุนแรง กว่าจะได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดต้องตรวจถึง 3 ครั้ง แต่เมื่อรู้ประกันสังคมเพิ่มค่ารักษาเพื่อให้ได้รับการบริการที่ดี ก็ดีใจ
เช่นเดียวกับพิชิต ผู้ประกันตนวัย 64 ปี ที่ต้องพบแพทย์ทุกเดือน เพราะป่วยเป็นความดัน และอัมพฤกษ์ซีกซ้าย อยากให้แพทย์ใส่ใจผู้ป่วยมากขึ้น
สำนักงานประกันสังคมเพิ่มวงเงินค่าบริการทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลคู่สัญญา 4 รายการ ได้แก่ ค่าเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มเป็น 1,500 บาทต่อคนต่อปี ค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคที่มีภาระเสี่ยงเป็น 447 บาท/คน/ปี ค่ารักษากรณีมีค่าใช้จ่ายสูงเป็น 640 บาท และผู้ป่วยในที่มีค่าใช้จ่ายเกิน 1 ล้านบาท เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ให้สถานพยาบาลในอัตราร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่ายที่เกิน รวมแล้วประกันสังคมต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.2 พันล้านบาท
ด้านโรงพยาบาลเอกชน ชี้รายได้หลักอยู่ที่ค่าเหมาจ่ายรายหัว แม้เพิ่มขึ้น 40 บาท หรือร้อยละ 2.74 ต่อปี ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะโรงพยาบาลเอกชนขาดทุนเฉลี่ยกว่าร้อยละ 4 ต่อปี สะสมตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบันนานกว่า 6 ปี ทำให้มากกว่าครึ่งถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญา แนะหากแก้ปัญหาระยะยาวต้องเพิ่มเป็น 1,700 บาทขึ้นไป
ประกันสังคมถือเป็นความหวังด้านสุขภาพของมนุษย์เงินเดือนที่ยอมจ่ายเงินสมทบเพื่อแลกกับการรักษาที่มีคุณภาพ แต่หากเงินค่ารักษาที่จ่ายให้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นผู้ประกันตนที่ปัจจุบันมีมากกว่า 13 ล้านคน . – สำนักข่าวไทย