กรุงเทพฯ 6 มิ.ย. – กระทรวงการคลังสรุปเกลี่ยเงินค่าไฟฟ้าช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 300 บาท/เดือน ขณะที่กระทรวงการคลังสรุปวงเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยรวม 8 หมื่นล้านบาท/ปี
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สรุปมาตรการที่จะให้สวัสดิการผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว และสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้าจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป วงเงินทั้งหมดประมาณ 80,000 ล้านบาท โดยเงินส่วนหนึ่งจะมาจากงบประมาณเดิมที่ตั้งไว้ เช่น ค่ารถเมล์ รถไฟฟรี 30,000 ล้านบาท/ปี และอีกส่วนหนึ่งมาจากกองทุนประชารัฐเพื่อสวัสดิการของผู้มีรายได้วงเงิน 50,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไป
ทั้งนี้ แนวทางช่วยเหลือจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเรื่องรถเมล์ รถไฟฟรี ส่วนลดค่าน้ำและค่าไฟฟ้า ส่วนระยะที่ 2 จะนำเสนอมาตรการอื่นที่จะใช้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยระยะต่อไป ซึ่งจะมีทั้งส่วนของการเพิ่มสวัสดิการผู้สูงอายุ, ค่าก๊าซฯ, ค่ารถไฟฟ้า, การคืนภาษีให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี แต่ต้องเข้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการหารายได้ที่มีกว่า 3-4 ล้านคน ซึ่งจะมีทั้งมาตรการยกระดับการศึกษา,การเพิ่มที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย ,และแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
“มาตรการที่ออกมาจะช่วยทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และคาดว่าจะไม่กลับเข้ามาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยปีต่อไปอีก โดยรัฐบาลมุ่งอยากเห็นจำนวนผู้ที่มาลงทะเบียนลดลงให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณต้องการให้ใช้วงเงินของกองทุนสวัสดิการเพียงทางเดียว คือ วงเงิน 50,000 ล้านบาท แต่กระทรวงการคลังกำลังต่อรองกับสำนักงบประมาณ เพื่อให้คงวงเงินทั้ง 2 ก้อนไว้ 80,000 ล้านบาท ซึ่งคงต้องขอหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าจะใช้แนวทางใด” นายสมชัย กล่าว
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แนวทางช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในส่วนของค่าไฟฟ้า ก๊าซแอลพีจี และเอ็นจีวี ขณะนี้กระทรวงฯ ได้ส่งข้อมูลให้กระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว รอเพียงกระทรวงการคลังจะสรุปช่วยเหลืออย่างไร โดยเบื้องต้นได้รับแจ้งว่าค่าไฟฟ้าจะอุดหนุนในอัตรา 300 บาท/เดือน/คน โดยต้องดูรายชื่อในทะเบียนมิเตอร์ด้วยว่าซ้ำกันหรือไม่ โดยปัจจุบันกำหนดช่วยเหลือเฉพาะประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน หากกระทรวงการคลังใช้งบประมาณดูแล ดังนั้น ในอนาคตโครงสร้างค่าไฟฟ้าก็ไม่ต้องนำเงินจากผู้ใช้กลุ่มอื่นมาอุดหนุน
ส่วนเรื่องก๊าซเอ็นจีวี ที่ปัจจุบันอุดหนุนรถสาธารณะมีปัญหาว่าการอุดหนุนบางส่วนผ่านนิติบุคคล เจ้าของรถแท็กซี่ รถร่วมบริการ ขสมก.ทั้งรถแมล์และรถตู้ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับนิยามผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลัง ขณะที่แอลพีจี ปัจจุบันเป็นการอุดหนุนให้กับผู้มีรายได้น้อยใช้ไฟไม่เกิน 90 หน่วย หรือไม่มีไฟฟ้าใช้รวม 7.68 ล้านราย และร้านค้าหาบเร่แผงลอยอาหาร 332,000 ราย ราคา 18.13 บาท/กิโลกรัม ก็คงรอความชัดเจนว่ากระทรวงการคลังจะดำเนินการอย่างไร โดยตามแผนเดิมนั้น เงินอุดหนุนทั้งหมดจะผ่านกลไกเงินกองทุนน้ำมันตามร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ
ทั้งนี้ กระทรวงได้เปิดคลินิกภาษี โดยเปิดให้บริการประชาชนแบบบูรณาการด้านองค์ความรู้และการให้คำปรึกษาด้านภาษีของ 3 กรมจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลัง ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าใจเรื่องภาษีง่ายขึ้น โดยให้ความรู้ ผ่านช่องทางเว็บไซต์ (http://taxclinic.mof.go.th) และ Mobile Application (Tax clinic) โดยได้มีการสรุปเนื้อหาเกี่ยวกับองค์ความรู้โครงสร้างภาษีในประเทศไทยสอดคล้องการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ มากกว่า 100 ธุรกิจ ครอบคลุมธุรกิจการผลิต ธุรกิจการค้า และธุรกิจการบริการ , ผ่านช่องทาง Facebook fan page (@TaxClinicMOF) เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารเกี่ยวกับภาษีและกิจกรรมต่าง ๆ ของกระทรวงการคลัง รวมถึงการให้คำปรึกษาเรื่องภาษี โดยการส่งข้อความผ่านทาง Inbox บนหน้า Fan page
และผ่านช่องทาง Call Center (1689) และ walk in เพื่อขอรับบริการสอบถามเรื่องภาษีจากหมอภาษี ณ ศูนย์ประสานงานคลินิกภาษีกระทรวงการคลัง อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีจาก 3 กรมจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลังเป็นผู้ให้คำปรึกษา. -สำนักข่าวไทย