กรุงโตเกียว 5 มิ.ย. – รองนายกรัฐมนตรีนำทีมเศรษฐกิจเยือนญี่ปุ่น ดึงลงทุนอีอีซี คาดมีเม็ดเงินไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การนำทีมเศรษฐกิจของไทย ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งมีมาอย่างยาวนานถึง 130 ปี เพื่อร่วมจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการปีนี้ เพื่อจัดงานในหลายโอกาสร่วมกันช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ญี่ปุ่นจึงมีความสำคัญในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของไทย เมื่อหลายประเทศสนใจเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เพื่อกระจายออกสู่อาเซียนและตลาดโลก จึงต้องการดึงญี่ปุ่นเข้ามาขยายการลงทุนเพิ่ม เนื่องจากมองว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศขนาดใหญ่อันดับโลก รองจากเยอรมนี สหรัฐ ซึ่งเริ่มนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ 4.0 การเชื่อมโยงกับเยอรมัน ญี่ปุ่น จึงเป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย เพื่อชักชวนเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
สำหรับการเดินทางครั้งนี้มีภาคเอกชนญี่ปุ่นหารือกับผู้ประกอบการทั้ง 4 ราย เช่น บริษัท Spiber Inc ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ เจ้าของเป็นวัยหนุ่มสาว 35 ปี ศึกษาพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ด้านชีวภาพ ผลิตเส้นใยชนิดพิเศษจากโปรตีน จนมีความแข็งแรงมากกว่าเหล็กหลาย 300 เท่า เพื่อนำไปใช้ในด้านอากาศยาน ยานยนต์ จึงสนใจลงทุนในประเทศไทย เพราะมีความพร้อมหลายด้าน รวมทั้งรถยนต์ค่ายซูบารุเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นเวลานานหลายสิบปีที่มีความแข็งแรงทนทานด้านกระบะ แต่ร่วมกับสิงคโปร์ลงทุนฐานการผลิตในมาเลเซียเป็นเวลานาน เมื่อได้พัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน จึงเชิญมาขยายการลงทุนในอีอีซีของไทย และมั่นใจ 90 % ว่าต้องการลงทุนแน่นอน
ขณะที่บริษัท คูราเร่ สนใจร่วมทุนกับซุมิโตโม่ และพีทีที โกลบอล เคมิคัลของไทย เพื่อผลิตเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษในพื้นที่เหมราช – มาบตาพุด นับว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลายประเภทของญี่ปุ่นต้องการไปลงทุนในเขตอีอีซี คาดว่าจะมีเม็ดเงินไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อีอีซี หากโครงการลงทุนเหล่านี้เกิดขึ้นจะช่วยสนับสนุนซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทยให้แข็งแกร่ง ทั้งกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อากาศยาน และเครื่องมือแพทย์
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า หลังจากเปิดให้บริษัทเอกชนเสนอยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอภายในสิ้นปีนี้ พร้อมรับข้อเสนอพิจารณาสิทธิพิเศษเป็นรายไป สำหรับอุตสาหกรรมที่เข้ามาร่วมพัฒนาและส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทย จึงคาดว่าเอกชนหลายแห่งของญี่ปุ่นจะเริ่มลงทุนปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จึงนัดหารือรายละเอียดเป็นสาขา เป็นรายอุตสหากรรมเพิ่ม และยังพร้อมสนับสนุนผ่านกองทุนพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ยอมรับว่าทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต้องการความชัดเจนและความต่อเนื่องในการพัฒนาเขตอีอีซี รัฐบาลได้ย้ำไปว่ามีกฎหมายรองรับและเป็นนโยบายระดับชาติมีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง จึงเกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุน.-สำนักข่าวไทย