กรุงเทพฯ 3 พ.ย. – กระทรวงพลังงานเปิดให้ความรู้และข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าว โดยระวุว่าตามแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว หรือพีดีพี21 ปี (2558-2579 ) ไทยจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 6,000 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้มีสัญญาซื้ิอขาย (พีพีเอ)แล้ว 3,029. เมกะวัตต์ ซึ่งจะเปิดรับซื้อในส่วนของโซลาร์สหกรณ์การเกษตรและราชการ 519 เมกะวัตต์ในต้นปี 2560 หลังจากนั้นจะเปิดรับซื้อเมื่อใดขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในส่วนค่าอุดหนุนหรือ FIT ที่ลดลงล่าสุดเหลือ 4.12 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี เนื่องจากต้นทุนโดยเฉพาะแผงโซลาร์ลดลง เนื่องจากประสิทธิภาพดีขึ้น ล่าสุดเหลือ 42.2 บาทต่อวัตต์ ซึ่งน่าจะใช้อัตรานี้ไปจนถึงปี 2561
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์และรองโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายหน่วยงานราชการทุกแห่งติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อลดต้นทุนค่าไฟราชการ โดยขณะนี้ทุกหน่วยงานกำลังหารือว่าจะดำเนินการอย่างไร รวมถึงการกำจัด หรือจัดการแผงโซลาร์ที่จะหมดอายุในอนาคตที่จะกลายเป็นขยะควรทำอย่างไร โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งสำนักงบประมาณจะต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไร โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนรูปแบบลักษณะร่วมมือกับเอกชนในรูปแบบที่เคยทำร่วมกันที่เอกชนลงทุนและได้รายได้ร่วมในการรับงานได้จากค่าไฟฟ้าที่ลดลง หรือต้องทำรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งจะต้องดูถึงผลกระทบและเรื่องจุดเชื่อมต่อไฟฟ้าหรือฟีดเดอร์ด้วย
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานปรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รูปแบบสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หรือ Feed in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตรายเล็กมาก (VSPP) จากเดิม 5.66 บาทต่อหน่วยปี 2557 มาอยู่ที่ 4.12 บาทต่อหน่วยในปี 2559 โดยอัตรานี้คาดว่าจะใช้ไปจนถึงปี 2561 และหลังจากนั้นจะคำนวณต้นทุนใหม่เพื่อกำหนด FiT ให้เหมาะสมอีกครั้งและใช้ในปี 2562
“FiT โซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์เฟส 2 ที่เหลือ 519 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้อัตรา 4.12 บาทต่อหน่วยเพื่อให้ความเป็นธรรมกับเฟสแรก ขณะเดียวกันกระทรวงฯ กำลังพิจารณาส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสานหรือ SPP Hybrid เพื่อให้เป็นแบบพร้อมจ่ายหรือ Firm เช่น โซลาร์ฟาร์มกับพลังงานทดแทนอื่นเช่น ชีวมวล รวมถึงการมีเทคโนโลยีกักเก็บ คือ เอนเนอร์ยีสตอเรจ ” นายวัฒนพงษ์ กล่าว