โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ 29 พ.ค.-นายกฯ ระบุจะระบายข้าวในสต๊อก18 ล้านตันให้หมดในรัฐบาลนี้ เร่งสร้างนวัตกรรมข้าวขยายตลาดให้เป็นสินค้าเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เป็นประธานพิธีเปิดการประชุม Thailand Rice Convention 2017 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การค้าข้าวไทยและทิศทางในอนาคต” โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน กลุ่มผู้นำเข้าข้าว ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมข้าว พร้อมด้วยผู้แทนการค้าจากหน่วยงานภาครัฐในประเทศ ผู้ซื้อ ผู้ผลิต ผู้ส่งออกที่สำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อังกฤษ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา เข้าร่วมกว่า 1,000 คน ว่า ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักและเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ประชากรกว่า 4 ล้านครัวเรือนเป็นเกษตรกรปลูกข้าว ส่งออกข้าวเฉลี่ย 10 ล้านตันต่อปีไปยังตลาดทั่วโลก สร้างรายได้กว่า 150,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้ไทยสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวกลับคืนมาได้ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาข้าวคงเหลือสต็อก โดยวางกรอบยุทธศาสตร์และแผนการระบายข้าวอย่างรอบด้าน คำนึงถึงผลกระทบต่อตลาดและราคาข้าวที่เกษตรกรจะได้รับ มีการทำงานอย่างเป็นระบบยึดหลักความสุจริต โปร่งใส และพิจารณาจังหวะเวลาในการระบายข้าวอย่างเหมาะสม สต๊อกข้าวปริมาณกว่า 18 ล้านตัน รัฐบาลทยอยระบายข้าวตามกรอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวให้ความเห็นชอบแล้วประมาณ 13 ล้านตัน มูลค่ารวมกว่า 112,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายระบายข้าวที่เหลือให้หมดในช่วงของรัฐบาลนี้ เพื่อไม่ให้รัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่อไป และทำให้กลไกตลาดข้าวกลับสู่ภาวะปกติ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนาถือเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ต้องใช้การวางแผน การสร้างองค์ความรู้ ใช้ระยะเวลา และต้องอาศัยความร่วมมือ ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวไทยอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านการผลิตและการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวไทยและทำให้ไทยเป็นผู้นำการค้าข้าวและมีนวัตกรรมในสินค้าข้าวที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สร้างราคากลไกการตลาดที่สมดุล
“การสร้างความเข้มแข็งแก่ชาวนา การบริหารจัดการพื้นที่ปลูกข้าวและพืชเกษตรอื่น ๆ การลดต้นทุนการผลิต การยกระดับคุณภาพผลผลิต การพัฒนานวัตกรรมและมาตรฐานข้าว ขับเคลื่อนข้าวไทยสู่มิติใหม่บนพื้นฐานความเป็นธรรมและความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดทำแผนและทบทวนยุทธศาสตร์ข้าวทุก 5 ปี เพื่อจัดทำแผนปฏิรูปภาคเกษตรในระยะ 20 ปี ซึ่งได้ดำเนินงานไปแล้วบางส่วนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อสร้างความสมดุลในอุปสงค์และอุปทานของข้าว มุ่งเน้นให้การตลาดนำการผลิต โดยรัฐบาลช่วยอำนวยความสะดวกและให้คำปรึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จของแผนการลดพื้นที่ปลูกข้าวระยะยาว” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายการรักษาตลาด รวมทั้งขยายตลาดส่งออกข้าวไทยไปพร้อมกัน เน้นดำเนินการเชิงรุกเพื่อเพิ่มและขยายโอกาสในการส่งออกข้าวไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น การจัดคณะผู้แทนไทยเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและเจรจาซื้อขายข้าวในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล(จีทูจี) กับประเทศผู้นำเข้าข้าวสำคัญ โดยตั้งแต่ปี 2557 รัฐบาลไทยได้ส่งมอบข้าวให้รัฐบาลต่างประเทศภายใต้การทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจี ปริมาณรวม 3.43 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลประชาสัมพันธ์ข้าวไทยร่วมมือกับภาคเอกชน จัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายและการประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์จากข้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เน้นข้าวที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ในตลาดบนและตลาดเฉพาะกลุ่มให้มีราคาสูงขึ้นได้ ปัจจุบันระบบการค้าของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องปรับตัวเปิดโอกาสทางการค้าใหม่ โดยสินค้าข้าวไทยสามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมข้าวไทย ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ในเชิงสร้างสรรค์ อาทิ เครื่องสำอางค์ ผลิตภัณฑ์สุขภาพจากข้าว โดยขยายตลาดให้กว้างขึ้น และจัดการให้สอดคล้องกับโมเดล “ประเทศไทย 4.0” มีเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตจาก “สินค้าข้าวเชิงโภคภัณฑ์” ไปสู่ “สินค้าข้าวเชิงนวัตกรรม” ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก
“ยกระดับภาคการเกษตรและชาวนาไทยให้เป็น Smart Farmer ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงผลักดันให้ชาวนารู้จักทำการค้า ต่อยอดดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มเเข็งเป็นผู้ประกอบการ SME โดยสินค้านวัตกรรมข้าวไทยจะต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกระดับตลาด จึงมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์จัดตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม (สกน.) ซึ่งรัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริมให้อุตสาหกรรมข้าวของไทยเติบโต และพัฒนาให้เท่าทันกับสภาวะตลาดและกลไกทางเศรษฐกิจของโลก เพื่อให้ข้าวยังเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่มีความสำคัญและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยต่อไป” นายกรัฐมนตรี กล่าว.-สำนักข่าวไทย