ทำเนียบรัฐบาล 23 พ.ค.-เลขาธิการกฤษฎีการะบุต้องพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วนก่อนใช้ม.44 ออกกฎหมาย ระบุนายกรัฐมนตรีพูดชัดใช้เฉพาะแก้ปัญหาประชาชน เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น
นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สั่งเร่งจัดทำกฎหมายจำเป็นเร่งด่วนในปี 2560 ว่า ยังไม่ได้พูดคุยกันอย่างชัดเจน ขณะนี้มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายดูแลอยู่แล้ว และตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อตอบโจทย์เรื่องการเสนอกฎหมายและเรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ต่าง ๆ 3-4 คณะ โดยมีคณะเร่งรัดการเสนอเรื่องและการตรวจสอบการเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี
“ร่างกฏหมายที่เสนอมาจะต้องผ่านคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวอยู่แล้ว และจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีต่อไป ในส่วนของผมเตรียมจำแนกประเภทของกฎหมายที่ถูกเสนอเข้ามา เพราะบางฉบับอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขณะที่บางฉบับมีแต่ตัวเรื่อง ไม่มีร่างกฎหมาย ส่วนจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อเร่งรัดการจัดทำกฎหมายหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าเรื่องใดจำเป็นต้องใช้หรือไม่ หากสามารถใช้ระบบตามปกติ และตอบสนองได้ทันเวลาก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพราะแนวทางของนายกรัฐมนตรีมีความชัดเจนว่าจะใช้มาตรา 44 เมื่อจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาของประชาชนและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าว
นายดิสทัต กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปพิจารณาออกเป็นกฎหมายตามปกติต่อไป ขณะที่วาระการปฏิรูป 36 วาระของ สปท.จะเข้าข่ายการใช้มาตรา 44 เพื่อออกกฏหมายหรือไม่ยังไม่ได้คัดกรอง เพราะปัจจุบันยังไม่ได้เห็นว่าในวาระการปฏิรูปดังกล่าวมีร่างกฎหมายทั้งหมดกี่ฉบับ ซึ่งจากนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปติดตาม กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงทางไซเบอร์ ว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนำกลับไปรับฟังความคิดเห็นในประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงใหม่ ซึ่งขณะนี้ได้ส่งกลับมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และจะดำเนินการตามขั้นตอนปกติต่อไป ส่วนที่ สปท.ต้องการให้ใช้มาตรา 44 เร่งรัดการออกกฏหมายนี้ เบื้องต้นจะใช้กระบวนการพิจารณาตามปกติก่อน แต่หากมีความจำเป็นเร่งด่วนจะพิจารณาใหม่.-สำนักข่าวไทย