สธ.22 พ.ค.-สธ.จัดอบรมความพร้อมแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 42 คน ปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาพยาบาลชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ประเทศซาอุฯ 23 ก.ค.- 6 ต.ค.นี้
วันนี้(22 พ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดการฝึกอบรมข้าราชการก่อนการเดินทางไปปฏิบัติราชการชั่วคราวที่สำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ประจำปีงบประมาณ 2560 เพื่อรับทราบนโยบายในการดูแลสุขภาพผู้แสวงบุญ ข้อควรปฏิบัติในพิธีกรรมด้านศาสนา จัดเตรียมเอกสารการเดินทาง และเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เช่น การฉีดวัคซีน การจัดเตรียมชุดปฏิบัติงาน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจของเจ้าหน้าที่รวมไปถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับภูมิประเทศ ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม และการใช้ชีวิตในประเทศซาอุดิอาระเบีย
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ในการดูแลชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ กระทรวงดำเนินการต่อเนื่องทุกปี จัดแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเดินทางไปปฏิบัติราชการชั่วคราวที่สำนักการแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม –6 ตุลาคม 2560 รวม 42 คน โดยมีนายแพทย์วิรุฬห์ พรพัฒน์กุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี เป็นหัวหน้าสำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งผลการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ไทยที่ประเทศซาอุฯ เมื่อปีที่ผ่านมา (2559) รายงานมีผู้แสวงบุญที่มาใช้บริการทั้งหมด 10,268 คน ส่วนใหญ่อายุ 51-60 ปี รองลงมา กลุ่มอายุ 61-70 ปี โรคที่พบบ่อยคือ โรคระบบทางเดินหายใจ แพ้อากาศ ร้อยละ 70 รองลงมาโรคปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โรคระบบย่อยอาหาร ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายเฝ้าระวังโรคเมอร์ส
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า การประกอบศาสนกิจหรือทำพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะ และเมืองนะดีนะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย จะมีมุสลิมทั่วโลกเดินทางมาพักอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่นเพื่อประกอบศาสนกิจ ซึ่งมีปัญหามากมาย เช่น การตายการเจ็บป่วย สภาพอากาศที่ร้อนจัดในเวลากลางวัน ฝุ่นละออง รวมทั้งจากโรคติดต่อประจำถิ่น บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต บางคนเกิดโรคประจำตัวกำเริบในขณะทำพิธี ซึ่งการที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้แต่ละปีมีผู้เจ็บป่วยเกิดขึ้น เนื่องจากไม่สามารถให้การดูแลได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นทุกคนที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ต้องตระหนักเรื่องการดูแลสุขภาพตนเองก่อนออกเดินทาง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น หอบหืด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ จะต้องได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายก่อนเดินทาง และเตรียมยาที่รับประทานเป็นประจำไปด้วยในจำนวนเพียงพอ
ในการปฏิบัติภารกิจของทีมแพทย์ไทยในครั้งนี้ นอกจากให้บริการดูแลรักษาชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธี ให้ประสบความสำเร็จ สามารถปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ยังถือเป็นผู้แทนของประเทศไทยอีกด้วย .-สำนักข่าวไทย