พัทยา 21 พ.ค. – กรมทางหลวงนำรถติดตั้งเลเซอร์ตรวจสภาพความเรียบของถนน เพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐานสากล
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สาย กรุงเทพฯ – บ้านฉาง ช่วงพัทยา – มาบตาพุด ล่าสุดกรมทางหลวง (ทล.) ได้นำเทคโนโลยีตรวจสอบสภาพความเรียบของถนนด้วยรถที่ติดตั้งเครื่องตรวจสอบสภาพความเรียบของถนน เพื่อใช้วัดความขรุขระของผิวถนนด้วยเลเซอร์ (Laser Profilometer) โดยใช้วัดตามดัชนีความเรียบขรุขระสากล (International Roughness Index, IRI) มาใช้ในโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สาย กรุงเทพฯ – บ้านฉาง ช่วงพัทยา – มาบตาพุด
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้สายทางที่มีคุณภาพ ปัจจุบัน ทล.มีรถตรวจสอบสภาพความเรียบของถนน 2 คัน ใช้สำหรับตรวจสอบสภาพถนนทั่วประเทศ ซึ่งรถทั้ง 2 คัน นอกจากติดตั้งเลเซอร์เพื่อตรวจสอบสภาพผิวถนนแล้ว ยังสามารถวัดความลึกของร่องล้อบนผิวถนนได้ รวมทั้งติดตั้งกล้องสำหรับเก็บภาพสายทาง ภาพแนวเขตทาง และสภาพสายทาง เพื่อบ่งชี้ความเรียบของผิวถนนให้ได้ค่ามาตรฐานตามหลักสากลที่ค่าปกติของถนนคอนกรีตต้องมีค่าต่ำกว่า 2.5 และถนนแอสฟัลต์ต้องมีค่าต่ำกว่า 2.0 จึงจะสามารถตรวจรับงานได้
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ทล.พัฒนายกระดับโครงข่ายทางหลวงพิเศษ ถือว่า สอดคล้องกับยุทธศาสาตร์ชาติด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ปี 2560 -2564 ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ ปัจจุบันทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ขยายจากจังหวัดชลบุรีถึงพัทยา ระยะทาง 42 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างดำเนินการเข้าสู่ระบบปิดอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2560 มีจุดเริ่มต้นที่ กม.2+300 เชื่อมกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ผ่านอำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สิ้นสุดเทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง บริเวณ กม. 34+400 ระยะทางรวม 32 กิโลเมตร งบประมาณ 14,200 ล้านบาท เป็นงบประมาณจากกองทุนเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางของทางหลวงพิเศษ ระยะเวลาดำเนินงานก่อสร้างประมาณ 4 ปี แบ่งงานก่อสร้างในส่วนงานโยธา ออกเป็น 13 สัญญา ลงนามสัญญาและเริ่มก่อสร้างทั้งหมด ผลงานก้าวหน้ามากกว่าร้อยละ 32 (ณ เดือนเมษายน 2560) ในส่วนของงานระบบ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมและบริหารการจราจร ด่านชั่งน้ำหนัก อยู่ระหว่างสำรวจ ออกแบบการก่อสร้าง และเตรียมการประกวดราคา คาดว่าจะเสร็จและเริ่มก่อสร้างปลายปี 2560
ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จเปิดให้บริการในปี 2560 จะเป็นเส้นทางสายหลักที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันออกไปยังทั่วทุกภูมิภาคได้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งสามารถรองรับการเดินทาง การขนส่งสินค้าทางเรือจากท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ การขนส่งทางรถไฟ และการขนส่งทางอากาศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ และพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน.-สำนักข่าวไทย