นนทบุรี 21 พ.ค. – พาณิชย์ดึงนักลงทุนไทย-ต่างชาติดูพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร นำร่อง 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มิ.ย.นี้ ย้ำใช้มุกดาหารเป็นท่าเรือประตูตะวันออกสู่อาเซียน โดยเฉพาะเส้นทางโลจิสติกส์เชื่อมไทย-ลาว-เวียดนาม และจีน
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดมุกดาหาร จัดงานเปิดโอกาสการค้าการลงทุนในมุกดาหาร ช่วงเดือนมิถุนายน 2560 โดยเชิญนักธุรกิจไทยและต่างประเทศ หอการค้าในประเทศ หอการค้าต่างประเทศ และทูตานุทูตมาร่วมงาน เพื่อแสดงศักยภาพความก้าวหน้าและความพร้อมของจังหวัดในการรองรับการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร หลังจากกระทรวงฯ มีนโยบายผลักดันให้จังหวัดมุกดาหารเป็นท่าเรือบกประตูตะวันออกสู่อาเซียน จึงต้องเร่งโปรโมทและดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การผลักดันให้มุกดาหารเป็นท่าเรือบกประตู่ตะวันออกสู่อาเซียน เนื่องจากตั้งอยู่บนกึ่งกลางตามแนวเส้นทางเชื่อมโยงตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงตะวันออก–ตะวันตก โดยมีสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 มุกดาหาร–สะหวันนะเขตเชื่อมต่อ ซึ่งจากยุทธศาสตร์ของมุกดาหารจะพบว่ามุกดาหารเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี สหภาพเมียนมาร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน–เซโน สปป.ลาว เขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบาว ของเวียดนาม และออกสู่ท่าเรือดานัง และยังขึ้นไปยังเวียดนามตอนเหนือเข้าสู่ตอนใต้ของจีน เชื่อมไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษฉงจั่ว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลกว่างสี ที่มีนครหนานหนิงเป็นเมืองหลวงและมีประชากรมากกว่า 100 ล้านคน
สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร จะมุ่ง 5 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร ประมงและกิจการที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กิจการโลจิสติกส์ นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม และกิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสขยายตัวและใช้ประโยชน์จากท่าเรือบกขยายตลาดไปยัง สปป.ลาว เวียดนาม และจีนได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันการค้าชายแดนในส่วนของจังหวัดมุกดาหารมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยการค้าในช่วง 4 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 61,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 94.78 โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 35,594 ล้านบาท และนำเข้า 25,951 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 9,643 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าการค้าที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปประกอบเป็นสินค้า เช่น โทรศัพท์ ในโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน เซโน แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ที่ไทยไปลงทุน
นอกจากนี้ การที่ด่านศุลกากรจังหวัดมุกดาหารนำร่องเป็นด่านมาตรฐานด่านแรกของรัฐบาลไทยที่มีการดำเนินการพิธีการตรวจแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวในพื้นที่ควบคุมร่วมกันที่จุดผ่านแดนมุกดาหาร–สะหวันนะเขต ทำให้สามารถอำนวยความสะดวกการผ่านด่านสินค้าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสินค้าจำพวกผลไม้แห้งที่นิยมผ่านด่านมุกดาหาร รวมถึงสินค้าอื่น ขณะที่ผลไม้สดส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางผ่านด่านชายแดนทางจังหวัดนครพนม เพื่อเข้าสปป.ลาว โดยสินค้าส่งออกช่วง 4 เดือนแรกปี 2560 ได้แก่ 1.หน่วยประมวลผลหรือหน่วยเก็บข้อมูล มีมูลค่า 21,442 ล้านบาท 2.ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำที่คล้ายกัน มูลค่า 1,552 ล้านบาท 3.อุปกรณ์สำรองไฟ 1,528 ล้านบาท 4.แผ่นวงจรพิมพ์ 1,494 ล้านบาท 5.น้ำตาลทราย 585 ล้านบาท 6.น้ำมันเชื้อเพลิง 580 ล้านบาท 7.ส่วนประกอบของกล้อง 439 ล้านบาท 8.ผลไม้อบแห้ง 234 ล้านบาท 9.วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ 222 ล้านบาท และ 10. ชิ้นงานทำด้วยพลาสติก 143 ล้านบาท
ส่วนสินค้านำเข้า 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.หน่วยประมวลผลหรือหน่วยเก็บข้อมูล มูลค่า 4,679 ล้านบาท 2.ทองแดงบริสุทธิ์ มูลค่า 3,794 ล้านบาท 3.พลังงานไฟฟ้า 3,250 ล้านบาท 4.ส่วนประกอบของกล้อง 2,764 ล้านบาท 5.เครื่องโทรศัพท์ 2,532 ล้านบาท 6.สื่อบันทึกหรืออุปกรณ์หน่วยความจำต่าง ๆ 1,230 ล้านบาท 7.แผงวงจรพิมพ์ 590 ล้านบาท 8.เสื้อเบลาส์ เชิ๊ตสตรีหรือเด็กหญิง 275 ล้านบาท 9.สูท แจ็กเก็ต กางเกงสตรีหรือเด็กหญิง 138 ล้านบาท และ 10. ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของเครื่องจักร 124 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย