กรุงเทพฯ 18 พ.ค. – กลุ่ม ปตท.ยืนยันระงับการลงทุนใหม่ในอินโดนีเซีย รอความชัดเจนคดีรัฐบาลอินโดนีเซียฟ้องร้องน้ำมันรั่ว “มอนทารา” พร้อมเร่งลงทุนโครงการลงทุนนำเข้าแอลเอ็นจี ทั้ง FSRU ภาคใต้ และในเมียนมาร์ รวมทั้งขยายสถานีรับจ่ายแอลเอ็นจีแห่งที่ 1 รอความชัดเจนใน 2 เดือนนี้
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ตัดสินใจไม่ขยายการลงทุนใหม่ในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อรอความชัดเจนจากคดีที่ทางรัฐบาลอินโดนีเซียฟ้องร้องเรียกความเสียหายกรณีน้ำมันรั่วจากแหล่งมอนทาราในประเทศออสเตรเลียเหตุเกิดเมื่อปี 2552 เพราะไม่แน่ใจว่าอินโดนีเซียจะต้อนรับกลุ่ม ปตท.มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมประเทศอินโดนีเซียเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ยืนยันชัดเจนว่าการฟ้องร้องโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของอินโดนีเซียกรณีนี้ก็ต้องให้ศาลตัดสิน ซึ่งไม่ว่าผลตัดสินออกมาอย่างไร ทางรัฐบาลอินโดนีเซียก็คงไม่สามารถเข้าไปยึดทรัพย์สินของกลุ่ม ปตท.ในประเทศอินโดนีเซียได้ เนื่องจากเป็นส่วนคนละนิติบุคคลกัน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กลุ่ม ปตท.ลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย ประกอบด้วย การลงทุนของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ในโครงการแหล่งปิโตรเลียมนาทูนา การลงทุนเหมืองถ่านหิน การลงทุนสวนปาล์ม และการลงทุนธุรกิจค้าขายน้ำมันและปิโตรเลียม
“โครงการเก่าที่ลงทุนไว้แล้วก็ยังเดินหน้าต่อ แต่การลงทุนใหม่ ๆ รวมทั้งการใส่เม็ดเงินใหม่ ๆ คงจะชะลอไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม โครงการที่ ปตท.สผ.เคยมีข้อตกลงเอ็มโอยูในการช่วยเหลือชุมชน หรือซีเอสอาร์ ก็จะสอบถาม ปตท.สผ.ว่าโครงการชะงักไปหรือไม่ โดยขอยืนยันว่าการดำเนินการหากมีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าผลกระทบเกิดจากน้ำมันรั่วจริง ทางกลุ่ม ปตท.พร้อมพิจารณาช่วยเหลือ แต่ถ้าไม่มีข้อพิสูจน์เราจะจ่ายเงินช่วยเหลือก็คงะจ่ายไม่ได้” นายเทวินทร์ กล่าว
สำหรับโครงการเร่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อความมั่นคงรองรับปริมาณก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ลดลง เนื่องจากการเปิดประมูลแหล่งก๊าซที่หมดอายุสัมปทาน “บงกช-เอราวัณ” ล่าช้านั้น โครงการทั้งหมดกำลังหารือกับกระทรวงพลังงานจะมีความชัดเจนในช่วง 2 เดือนนี้ โดยกระทรวงพลังงานจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในรอบถัดไป ประกอบด้วย โครงการขยายสถานีรับจ่ายแอลเอ็นจี แห่งที่ 1 จาก 11.5 ล้านตัน เป็น 15 ล้านตัน โครงการนำเข้าในลักษณะคลังลอยน้ำ (FSRU) ในฝั่งเมียนมาร์และในภาคใต้ โดยในส่วนของภาคใต้จะเป็นการนำเข้า เพื่อมาใช้กับโรงไฟฟ้าจะนะ โดยจะพิจารณาทั้งแอลเอ็นจี และการรับก๊าซเพิ่มจาก แหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ขณะเดียวกัน ปตท.ก็เร่งแผนก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซแอลเอ็นจีแห่งที่ 2 อีก 7.5 ล้านตัน ซึ่งยืนยันพร้อมลงทุนเพื่อความมั่นคงพลังงานของไทย. –สำนักข่าวไทย