รัฐสภา 17 พ.ค.- “สมชัย” เผย กกต. รอคำชี้แจงจาก กรธ.-คณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีความชัดเจนกรอบเวลาเลือกตั้ง 150 วัน หลังกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ นับรวมถึงการรับรองผลเลือกตั้งหรือไม่ เตรียมยื่นศาล รธน.ตีความ ก่อนกำหนดวันเลือกตั้ง หากคำตอบไม่ตรงกัน
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึง กรอบเวลาการเลือกตั้ง ที่ให้ กกต.ดำเนินการภายใน 150 วัน หลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ว่า เรื่องนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันว่า ให้นับรวมถึงการรับรองผลการเลือกตั้งด้วยหรือไม่ ดังนั้น กกต.จึงต้องทำความชัดเจนในเรื่องนี้ ก่อนที่จะกำหนดวันเลือกตั้ง
นายสมชัย กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือสอบถามไปยังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าตีความในเรื่องนี้อย่างไร แต่ยังไม่ตอบกลับมา หากชี้ว่าไม่นับรวมถึงการรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความเห็นที่แตกต่าง กกต.ก็จะทำเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐาน ก่อนการเลือกตั้ง
นายสมชัย กล่าวว่า ในส่วนของ กกต.เห็นว่า หากไม่นับรวมถึงการรับรองผล จะเป็นผลดีกับ กกต. เพราะจะมีเวลาในการทำงานมากขึ้น แต่ถ้ามองประโยชน์สาธารณะ ก็คิดว่าเร่งจัดการเลือกตั้งให้เสร็จโดยเร็วที่สุดน่าจะดี อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร กกต.ก็พร้อมที่จะจัดการเลือกตั้ง แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีความชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง
“ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ และควรชี้ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งกกต.จะต้องเป็นต้นเรื่อง แต่ต้องรอคำตอบจาก กรธ.และกฤษฎีกาก่อน ถ้าตอบออกมาว่า ให้รวมถึงการรับรองผลการเลือกตั้ง ก็ไม่เป็นปัญหา ไม่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เราก็จัดการเลือกตั้ง โดยเมื่อกฎหมายลูกมีผลบังคับใช้ ก็สามารถประกาศวันเลือกตั้งได้” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย ยังกล่าวถึง ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ว่า กกต.มิ่ดดใจในสิ่งที่ กรธ.ยกร่างมา ขอให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ แต่การกำหนดกลไกต่างๆ ในการสรรหา จะต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาใหม่ ซึ่งเห็นว่าการแบ่งกลุ่ม 20 กลุ่มอาชีพ เป็นเรื่องดีที่จะได้บุคคลที่มีองค์ประกอบหลากหลาย แต่ขั้นตอนการเลือกตั้งที่ไขว้กลุ่มกัน ที่ต้องการป้องกันการสมยอม หรือ “ฮั้ว” จะก่อให้เกิดปัญหาความวุ่นวายทางธุรการ และคนที่เลือกก็ไม่ทราบ หรือไม่รู้จักข้อมูลของคนในกลุ่มอื่น ดังนั้น ควรต้องออกแบบให้ดี และส่วนตัวมองว่า ไม่ว่าจะออกแบบอย่างไร ก็ป้องกันการฮั้วได้ยาก
ส่วนที่ กรธ.จะให้จับสลากในจังหวัดจาก 5 คน ให้เหลือ 1 คนนั้น นายสมชัย กล่าวว่า วิธีการนี้อาจป้องกันการฮั้วได้ในระดับหนึ่ง แต่จะทำให้เราได้คนที่จะมาแข่งขันในระดับประเทศ ไม่ได้มาจากความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง เพราะ 5 คนนั้น อาจจะมีคุณสมบัติไม่เท่ากัน จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า สิ่งที่ได้มา คุ้มกับสิ่งที่จะเสียไปหรือไม่ .- สำนักข่าวไทย