กรุงเทพฯ 17 พ.ค. – ไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ทำให้การใช้ไฟฟ้าปีนี้ไม่ทำลายสถิติสูงสุดที่เคยขึ้นในรอบหลายปี หลายเพจชี้ กฟผ.ให้ข้อมูลสับสนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าภาคใต้ ผู้ว่าฯ กฟผ.วอนให้ข้อมูลรอบด้านครบถ้วน โรงไฟฟ้าจะนะ 3 จะเกิดหรือไม่ ขึ้นกับผลเจรจาระดับรัฐบาลไทย-มาเลเซีย
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ปีนี้จะเป็นปีแรกในรอบหลายปีที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่ทำลายสถิติความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ที่เคยเกิดปีที่ผ่านมา โดยปีนี้แม้จะอากาศร้อนจัดความต้องการใช้ไฟฟ้ามีปริมาณมากและภาวะเศรษฐกิจขยายตัว แต่ เนื่องจากการที่ประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปีที่แล้วมีโซลาร์ค้างท่อเข้าระบบจำนวนมาก ทำให้ช่วยลดพีกไฟฟ้าลงได้ อย่างไรก็ตาม เงินอุดหนุนพลังงานทดแทนปรับขึ้นด้วย ซึ่งล่าสุดอยู่ในค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเอฟทีประมาณ 20 สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้ พีกไฟฟ้าปกติแล้วจะเกิดช่วงหน้าร้อนทำลายสถิติปีที่ผ่าน ๆ มา โดยเหตุการณ์ที่ไม่สามารถทำลายสถิติปีก่อนได้เคยเกิดขึ้น 2 ครั้งก่อนหน้านี้ คือ ช่วงปี 2540 ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง และ ปี 2554 วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ที่ส่งผลกระทบหนัต่อเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับพีกสูงสุดของไทยเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 ที่ 31,365 เมกะวัตต์ ส่วนปี 2560 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ 30,093.4 เมกะวัตต์
ส่วนกรณีที่มีกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องให้ลงทุนพลังงานทดแทนแทนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ ผู้ว่าฯ กฟผ.กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะไฟฟ้าพลังงานทดแทนแม้จะไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง แต่ระบบผลิตเมื่อขายให้ประชาชนยังมีราคาแพง ขณะนี้กลุ่มผลิตเอกชนส่วนใหญ่ได้กำไรจากการผลิต จะเห็นได้ว่าหุ้นของกลุ่มผู้ผลิตพลังงานทดแทนมีการเก็งกำไรทำรายได้สูงและที่สำคัญพลังงานทดแทนยังไม่สามารถใช้ได้ 24 ชั่วโมง ต้องรอการพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานที่ทั่วโลกกำลังพัฒนา
ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าในภาคใต้ ที่กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาว่าจะให้สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯ จะนะ 3 โดยใช้เชื้อเพลิงจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือเจดีเอ นั้น เรื่องนี้ภาครัฐจะเจรจากับมาเลเซีย เพื่อขอซื้อในส่วนของปริมาณก๊าซฯ ที่มาเลเซียเป็นเจ้าของ ซึ่งอาจเจรจาขอแบ่งเพิ่มได้อาจจะได้หรือไม่ได้ก็ยังไม่แน่นอน ซึ่งต้องยอมรับว่าก๊าซฯ อ่าวไทยที่มีปัญหาส่วนหนึ่งก็เพราะมีปัญหาเรื่องสัมปทานการขุดเจาะ ที่มีการคัดค้านและยืดเยื้อมาโดยตลอด ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาวฉบับปัจจบันต้องการลดสัดส่วนการใช้ก๊าซฯ แล้วไปใช้ถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีสะอาด เพราะต้นทุนถ่านหินถูกกว่าก๊าซฯ แต่เมื่อมีปัญหาหากไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ได้ ก็จะมีปัญหาด้านความมั่นคงไฟฟ้า ไฟฟ้ามีโอกาสดับได้สูงขึ้น ดังนั้น ด้วยเทคโนโลยีและราคาต้นทุนปัจจุบันเมื่อยังไม่สามารถใช้โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ดังนั้น ในส่วนที่ต้องการความมั่นคงของไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าที่ให้ความมั่นคงที่เท่าเทียมกันกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน คือ ก๊าซฯ แม้จะมีราคาแพงกว่าและทำให้สัดส่วนใช้ก๊าซฯ ยิ่งสูงขึ้นก็ตาม
“มีข้อสังเกตว่ามาเลเซียมีการขายก๊าซฯ ของตนเองออกไปแล้วซื้อถ่านหินมาผลิตไฟฟ้าแทนเป็นปริมาณประมาณร้อยละ 40 เพราะราคาต้นทุนไฟฟ้าจากถ่านถูกกว่า ขณะที่โรงไฟฟ้าของไทยใช้ก๊าซฯ เป็นสัดส่วนสูงมากเกือบร้อยละ 70 บางเพจขณะนี้ออกมาให้ข้อมูลและโจมตีว่าข้อมูลเชื้อเพลิงไทยสับสน เรื่องก๊าซฯ เรื่องถ่านหิน ก็ขอความกรุณาอย่าให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เพราะเท่ากับบิดเบือน” นายกรศิษฏ์ กล่าว. -สำนักข่าวไทย