ขอนแก่น 16 พ.ค.-เครือข่ายอาจารย์ นักวิชาการ และพยาบาลวิชาชีพ ภาคอีสาน พลิกวิกฤติพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวเป็นโอกาสในการรวมพลังผลักดันให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาของพยาบาลในระบบบริการสุขภาพ นำไปสู่การตั้งกรมการพยาบาล เพื่อบริหารจัดการบุคลากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นี่คือความในใจของพยาบาลโรงพยาบาลมหาสารคามในงานสัมมนาวิชาการที่ จ.ขอนแก่น เมื่อช่วงสายวันนี้ ต่อปัญหาการไม่อนุมัติบรรจุพยาบาลวิชาชีพกว่า 10,000 อัตรา ซึ่งส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของพยาบาลในวงกว้าง ซ้ำเติมปัญหาสมองไหลที่ฝังรากมานาน จากค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ภาระงานที่มากเกินไป ปัญหาสุขภาพ และความมั่นคงในชีวิตการทำงาน สวนทางปัญหาการขาดแคลนพยาบาล ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 50,000 คนในอีก 2 ปีข้างหน้า
หลักฐานที่เห็นได้ชัดสุด คือ การขึ้นเวร 2 กะต่อเนื่อง 16 ชั่วโมง ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และกับทุกโรงพยาบาลของรัฐ เวลาพักผ่อนจึงน้อย ขาดโอกาสในการพัฒนาตัวเอง งานวิจัย 2 ปีก่อน พบว่าการไม่บรรจุพยาบาลจบใหม่ และให้เงินเดือนเริ่มต้น 12,300 บาท ต่ำกว่าอาชีพอื่นที่จบปริญญาตรีเท่ากัน เป็นสาเหตุหลักที่พยาบาลจบใหม่ลาออกเมื่อครบปีแรกเกือบร้อยละ 50 ปีต่อมาเพิ่มอีกร้อยละ 20 ในระบบจึงเต็มไปด้วยคนใหม่ เพราะคนที่มีประสบการณ์ทยอยลาออก ส่งผลกระทบต่อการให้บริการสุขภาพประชาชนโดยตรง
ในวงสัมมนาสรุปสถานะวิชาชีพพยาบาลผ่าน 3 งานวิจัย ว่าเป็นหนึ่งในทีมสุขภาพที่ขาดไม่ได้ แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโครงสร้างการบริหารกำลังคน ไม่มีผู้บริหารระดับกำหนดนโยบาย เมื่อผนวกกับวงจรปัญหาที่เรื้อรัง จึงเห็นว่าควรมองไกลกว่าการเรียกร้องให้บรรจุเป็นข้าราชการ โดยจะใช้วิฤติในครั้งนี้ รวมพลังผลักดันให้เกิด กรมการพยาบาล เพื่อจัดองค์กรพยาบาลให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
แม้ล่าสุด นายกรัฐมนตรีออกมารับปากว่า จะทยอยบรรจุพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการภายใน 3 ปี แต่ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดนัก เบื้องต้นเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว จึงจะยังคงเข้าไปยื่นหนังสือต่อรัฐบาล และองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในปลายเดือนนี้ตามกำหนดเดิม.-สำนักข่าวไทย