นนทบุรี 15 พ.ค.-อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ในเดือนเมษายนโตต่อเนื่องมีทั้งปัจจัยหนุนและอีกหลายปัจจัยที่ต้องจับตา
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ยอดการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลตั้งใหม่ในเดือนเมษายน 2560 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศจำนวน 4,783 ราย เพิ่มขึ้น 796 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 ซึ่งมีจำนวน 3,987 ราย แต่ลดลงจำนวน 1,989 ราย คิดเป็นร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 6,772 ราย ขณะที่นิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิก มีจำนวน 878 ราย ลดลง จำนวน 289 ราย คิดเป็นร้อนละ 25 เมื่อเทียบเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 1,167 ราย และลดลง จำนวน 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 ซึ่งมีจำนวน 897 ราย
ขณะทีมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ ในเดือนเมษายน 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 21,832 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จำนวน 9,352 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 ซึ่งมีจำนวน 12,480 ล้านบาท แต่มีมูลค่าลดลง จำนวน4,809 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 26,641 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจที่มีการประกอบธุรกิจใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 425 ราย รองลงมาธุรกิจโฮลดิ้ง จำนวน 362 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 273 ราย ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ จำนวน 236 ราย และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 109 ราย ตามลำดับ
ส่วนห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น ณ วันที่ 30 เมษายน 2560จำนวน 1,383,897 ราย มูลค่าทุน จดทะเบียนรวม 20.84 ล้านล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 661,998 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 16.10 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 479,972 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,165 ราย และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 180,861 ราย
ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-เม.ย.60) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท จำนวน 23,585 ราย เพิ่มขึ้น จำนวน 2,075 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ม.ค.-เม.ย.59 มีทั้งสิ้น 21,510 ราย ซึ่งสูงกว่าที่กรมฯคาดการณ์ไว้ทั้งปีจะมีอัตราการจดทะเบียนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ3 และคาดว่าตลอดปีนี้ ยอดการตัดตั้งบริษัทนิติบุคคลเป็นตามเป้าหมาย คือ ไม่ต่ำกว่า 60,000-65,000 ราย โดยมาจากปัจจัยสนับสนุนของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายเพิ่มมากขึ้นจากการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในตลาดจีน ยุโรป และกลุ่มประเทศ CLMV
นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐที่เกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนยังได้รับผลบวกจากการขยายเวลามาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศต่อไปอีก 1 ปี เป็นสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2560
ดังนั้นเศรษฐกิจไทยยังจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความผันผวนของตลาดเงิน ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และความไม่แน่นอนทางการเมืองของยุโรป รวมทั้งสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไป
แม้ กรมฯ จะเปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนการจัดตั้งที่สะดวกและง่ายขึ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้มีการตรวจสอบ อะไรที่ผิดปกติจะติดตามดูในเชิงลึกและได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆทั้งกรมสรรพากร การท่องเที่ยวและแม้แต่ สคบ จะร่วมกันตรวจสอบที่มีที่ไปอย่างแน่นอน เช่น ธุรกิจด้านการลงเที่ยวและธุรกิจขายตรงจะต้องมีจดกับ ทาง สคบ เพื่อให้มีการขึ้นทะเบียนการทำธุรกิจไว้จะได้ลดปัญหาการหลอกล่วงกันต่อไป.-สำนักข่าวไทย