กรุงเทพฯ 12 พ.ค.-โฆษกรัฐบาล เผย รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 แห่งทั่วประเทศ ส่งเสริมเกษตรกรดั้งเดิมเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ใช้แอพพลิเคชันช่วยคำนวณต้นทุนการผลิต
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะเกษตรกร เพื่อให้สามารถพัฒนาอาชีพและยกระดับรายได้ของตนเองอย่างมั่นคง โดยได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรขึ้น อำเภอละ 1 แห่ง รวม 882 แห่ง ตั้งแต่ปี 2557 บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนนำงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกร ทั้งเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป การตลาด เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าแก่ผลผลิต
“นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า การทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง เพื่อให้ไทยก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ต้องส่งเสริมให้ทุกคนมีความรู้และนำเทคโนโลยีไปพัฒนาการผลิต เปลี่ยนจากเกษตรกรแบบดั้งเดิมให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ ได้คัดเลือกจากพื้นที่ที่ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ คน สินค้า และศักยภาพการผลิต (Zoning) และกำหนดประเด็นที่จะส่งเสริมให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ โดยมีองค์ประกอบ คือ 1) เกษตรกรต้นแบบ 2) แปลงเรียนรู้ 3) หลักสูตร 4) ฐานการเรียนรู้ ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละศูนย์ฯ จะบริหารจัดการโดยเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และชุมชน จัดทำหลักสูตรและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยให้เกษตรกรได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในแปลงเรียนรู้ เช่น การปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ สร้างรายได้ 900,000 บาทต่อปี ที่ จ.มหาสารคาม การผลิตกาแฟขี้ชะมด จ.กระบี่ สร้างรายได้ กก.ละ 20,000 บาท เป็นต้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เกษตรกรยังสามารถใช้ประโยชน์จากแอพลิเคชัน OAE RCMO หรือ “กระดานเศรษฐี เกษตรกรมีโอกาส” เพื่อคำนวณต้นทุนการผลิตพืช ปศุสัตว์ ประมง และยังสามารถทราบได้ว่า พื้นที่ของตัวเองเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับปลูกพืชชนิดนั้นหรือไม่ หากไม่เหมาะจะปลูกพืชชนิดใดแทน รวมถึงทราบแหล่งรับซื้อและราคาที่รับซื้อผลผลิตด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับว่า ทุกหน่วยงานจะต้องเข้าไปสนับสนุนการทำงานของศูนย์การเรียนรู้ฯ เพื่อให้เกษตรกรสามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมได้จริง และขยายเครือข่ายถ่ายทอดความรู้และปฏิบัติให้เกิดผล โดยต้องยกระดับการเรียนรู้จากเรื่องเกษตรพื้นฐาน เช่น การตัดแต่งกิ่ง การทำปุ๋ย นำไปสู่การร่วมกันคิดว่าจะนำงานวิจัยและเทคโนโลยีไปต่อยอดเพื่อเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตรอย่างไรบ้าง.-สำนักข่าวไทย