กรุงเทพฯ 12 พ.ค.-มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผู้ปกครองใช้จ่ายช่วงก่อนเปิดเทอมกว่า 50,000 ล้านบาท ซื้อสินค้าอุปกรณ์การเรียนเพิ่ม ขณะที่ค่าเล่าเรียน-อุปกรณ์การเรียนก็แพงขึ้นด้วย ทำให้ยังระมัดระวังการใช้จ่าย บางส่วนกู้เงิน เอาของไปจำนำ ก่อหนี้ในระบบ เพราะมีเงินไม่พอจ่ายค่าเทอม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเปิดเทอม ว่า จะมีการจับจ่ายในช่วงดังกล่าวเป็นมูลค่ากว่า 50,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.14% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ปกครองเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงซื้อสินค้าจำนวนมากขึ้น ขณะเดียวกันราคาสินค้าสำหรับการเรียนก็แพงขึ้นด้วย แม้ว่าจะซื้อสินค้าจำนวนเท่าเดิม ทำให้มูลค่าการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น และสูงสุดเป็นประวัติการณ์
โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยโดยรวมต่อคนอยู่ที่ 12,295.70 บาท และสัดส่วนค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม แบ่งเป็น 42.8% ใช้สำหรับจ่ายเป็นค่าเล่าเรียน และค่าหน่วยกิต รองลงมา 28.2% ใช้สำหรับจ่ายค่าบำรุงโรงเรียน หรือแป๊ะเจี๊ยะ ขณะที่ค่าใช้จ่ายเรื่องอุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน รองเท้านักเรียน เป็นสัดส่วนที่น้อย เพียง 5-6% ของมูลค่าการใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งทำให้กลุ่มตัวอย่างถึง 53.1% มีเงินไม่เพียงพอใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม และต้องนำทรัพย์สินไปจำนำ รวมถึงเบิกเงินสดจากบัตรเครดิต และกู้เงินในระบบเพื่อนำมาใช้จ่ายก่อน
อย่างไรก็ตาม บางส่วนยังเห็นว่าการเรียนพิเศษเพิ่มเติมมีความจำเป็น เพื่อให้บุตรหลานได้เกรดเฉลี่ยการเรียนที่สูงขึ้น และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการเรียนพิเศษ โดยระดับประถม มีค่าเรียนพิเศษ 10,704 บาทต่อราย มัธยมต้นต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษเพิ่ม 9,740 บาท ต่อราย มัธยมปลาย มีค่าใช้จ่าย เรียนพิเศษเพิ่ม 11,064 บาท และมหาวิทยาลัย มีค่าเรียนพิเศษเพิ่ม 14,814 บาทต่อราย โดยทัศนคติต่อระบบการศึกษาของไทย พบว่า 46% เห็นว่าระบบการศึกษาของไทยดีขึ้น 20% ไม่แตกต่าง 16.3% เห็นว่าแย่ลง และให้คะแนนสำหรับการศึกษาไทยอยู่ที่ 7.58 คะแนน จาก คะแนนเต็ม 10 -สำนักข่าวไทย