รัฐสภา 9 มิ.ย.- ประธาน กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เตรียมส่งร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อฯ ไปยังประธาน สปท.ภายใน 5 วัน ยืนยันไม่หนักใจถูกกดดันตลอดการพิจารณา
พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงการพิจารณาปรับแก้ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หลังจากที่ประชุม สปท.มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ว่า ขณะนี้ ในส่วนของคณะกรรมาธิการได้ปรับแก้เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยปรับแก้ตามมติของที่ประชุม สปท. ซึ่งได้เปลี่ยนจากการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นการออกใบรับรอง ซึ่งในมาตรา 91, 92 และ 99 จะไม่มีคำว่าใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อแล้ว ก็น่าจะทำให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เหลือ 91 มาตรา จากเดิมที่มีอยู่ 100 มาตรา แต่ก็ยังไม่สรุปว่าจะมีทั้งหมดกี่มาตรา ต้องรอปรับรูปเล่มให้แล้วเสร็จ
พล.อ.อ.คณิต กล่าวว่า ได้สรุปประเด็นสำคัญที่สมาชิก สปท.อภิปรายทั้ง 20 คน แล้วเพื่อแนบกับร่างกฎหมาย พร้อมกับร่างกฎหมายของ 6 องค์กรสื่อที่ยื่นเสนอ และร่างกฎหมายของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคำชี้แจงของตนในระหว่างการพิจารณา โดยไม่มีการปรับแก้เรื่องใดนอกเหนือจากข้อสรุปในการประชุม สปท.เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งขณะนี้จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐสภาที่จะปรับแก้ถ้อยคำและตรวจทานให้เรียบร้อย คาดว่า จะใช้เวลาไม่เกิน 5 วัน ก็จะส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปยัง ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.ได้ทบทวนร่าง ก่อนที่ประธาน สปท.จะนำส่งไปยังรัฐบาลต่อไป
พล.อ.อ.คณิต กล่าวว่า ส่วนการปรับแก้ร่างกฎหมายในขั้นตอนหลังนี้จะเป็นไปตามที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ร่างขึ้นมาหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ซึ่งก่อนหน้านี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ศึกษาและเสนอแนะมาว่า ควรจะมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ทาง สปท.ก็สานต่อ จากนี้ การตัดสินใจจึงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล เชื่อว่า รัฐบาลมีมุมมองที่หลากหลาย
พล.อ.อ.คณิต กล่าวว่า ไม่หนักใจกับการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนความเห็นต่อร่างกฎหมายนี้ทั้งในและนอกสภา มีทั้งผู้สนับสนุนและเห็นต่าง แต่ถือว่าได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และตลอดการพิจารณาร่างกฎหมาย ได้รับฟังความเห็นของสื่อมวลชน และตนก็ยอมรับในความเห็นต่าง ส่วน ความสัมพันธ์กับสื่อยังเป็นปกติ เพราะต่างฝ่ายต้องทำหน้าที่ เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
“ยกตัวอย่าง กรณีการเวรคืนที่ดินเพื่อตัดถนนเส้นบางปะอิน-โคราช ที่มีทั้งผู้เสียผลประโยชน์และเห็นต่าง แต่ถามว่า ทำไมรัฐบาลต้องทำ นั่นเพราะปัญหารถติดที่ส่งผลกระทบโดยรวม และจากปัญหาการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรม จึงต้องการให้มีกระบวนการควบคุม เช่น จริยธรรมของสื่อที่ระบุว่า ต้องเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่ละเมิดสิทธิ เป็นธรรม อิสระน่าเชื่อถือ หากผู้ชม ผู้ฟัง นักข่าวไม่ได้รับผลกระทบเองก็จะไม่รู้” พล.อ.อ.คณิต กล่าว.-สำนักข่าวไทย