กรุงเทพฯ 8 พ.ค. – กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เดินหน้าเร่งรัดถนนเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทช. ได้ดำเนินการก่อสร้างถนนสายเลี่ยงเมืองบ้านทุ่งเสี้ยว – บ้านสันป่าตอง – บ้านหางดง (ตอนที่ 1 และ 2) อำเภอหางดง, สันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ช่วงกิโลเมตรที่ 0+000 ถึง กิโลเมตรที่ 13+757.574 ขนาด 4 ช่องจราจร แล้วเสร็จ ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณจราจรที่หนาแน่นบนทางหลวงหมายเลข 108 ช่วงผ่านเมืองหางดง, เมืองสันป่าตอง และชุมชนบ้านทุ่งเสี้ยว โดยใช้เป็นเส้นทางเลี่ยงเมืองไปสู่พื้นที่ทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ และเพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายทางให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเส้นทางดังกล่าวเป็นสายทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ทช. จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสายเลี่ยงเมืองสันป่าตอง – หางดง (ตอนที่ 3) อำเภอสันป่าตอง,หางดง จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางรวม 13.558 กิโลเมตร
โดยก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ข้ามคลองชลประทานสำหรับกลับรถ จำนวน 5 แห่ง ก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามลำน้ำธรรมชาติ จำนวน 1 แห่ง สะพานลอยคนเดินข้าม จำนวน 2 แห่ง รวมทั้งติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบอำนวยความปลอดภัย ระบบระบายน้ำ และปรับปรุงภูมิทัศน์ข้างทาง จำนวน 3 แห่ง ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 780 วัน งบประมาณในการก่อสร้าง 402.95 ล้านบาท
ปัจจุบันมีผลงานความก้าวหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 28 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างงานดินตัดดินถมคันทาง งานโครงสร้างทางและผิวจราจร งานเสาเข็มตอกสำหรับกำแพงกันดิน สะพานสำหรับจุดกลับรถ และงานระบบไฟฟ้าแสงสว่างสำหรับถนน ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน 2561
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมทางหลวงมีเส้นทางที่อยู่ในความรับผิดชอบทั่วประเทศกว่า 46,700 กิโลเมตร โดยยังเป็นถนนลูกรังประมาณ 2,000 กิโลเมตร ขณะที่ปีงบประมาณ 2560 กรมทางหลวงชนบทได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อนำมาดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางทั้ง 76 จังหวัด ประมาณ 800 กิโลเมตร ควบคู่กับการบำรุงรักษาพัฒนาทุกเส้นทางให้มีความปลอดภัย พร้อมทั้งขยายเส้นทางจราจรกรุงเทพมหานคร – ปริมณฑล ที่มีความคับคั่ง เช่น ถนนราชพฤกษ์จาก 6 ช่องจราจร เป็น 10 ช่องจราจร ให้สามารถรองรับปริมาณรถได้มากขึ้นภายในปี 2562 นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการพัฒนาเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในประเทศ โดยเฉพาะภายใต้นโยบาย 12 เมืองต้องห้ามพลาด ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่กรมทางหลวงชนบท ได้เข้าไปสนับสนุนการคมนาคมให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น – สำนักข่าวไทย