ธ.ก.ส. 3 พ.ค. – รัฐบาลหางบกลางเพิ่มรองรับสวัสดิการคนจนรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี สำนักงบประมาณจัดหางบกลางรองรับ ยืนยันกระทบขาดดุลงบปี 61 วงเงิน 4.5 แสนล้านบาท เพื่อเสนอ ครม.กลางกันยายน ก่อนเริ่มใช้บัตรสวัสดิการ 1 ต.ค.
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่ผู้แทนส่วนราชการและกรรมการ ผู้บริหารของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) หลังจากขณะนี้ผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนประมาณ 13 ล้านคน คาดว่าหลังครบกำหนดวันที่ 15 พฤษภาคม อาจมีผู้มาลงทะเบียนมากกว่า 14 ล้านคน จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน สศค. และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐศึกษาแนวทางการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยจัดประชุมร่วมกันทุกเดือน
ทั้งนี้ รัฐบาลแบ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ตามเส้นความยากจน ซึ่งมี 4 ล้านคน เป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ จึงเน้นการเพิ่มรายได้ด้วยการโอนเงินให้โดยตรง และกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี เป็นกลุ่มที่ลงทะเบียนเพื่อให้สวัสดิการด้านต่าง ๆ ตามกลุ่มพื้นที่แต่ละภาค เน้นการลดค่าใช้จ่ายจากค่าครองชีพและฝึกอาชีพให้มีแนวทางในการหารายได้เพิ่มขึ้น จึงประสานให้กระทรวงแรงงานช่วยส่งเสริมอาชีพกลุ่มดังกล่าวเพิ่ม เพื่อหารายได้เพิ่ม เช่น อาชีพช่างประปา ไฟฟ้า ช่างทั่วไป ประจำชุมชน ครอบครัว
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมสรุปการให้สวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ทั้งด้านคมนาคมรถเมล์ฟรี ไฟฟ้า ประปา ใช้เงินดูแลประเภทดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท และการจ่ายเงินโดยตรงกับผู้มีรายได้น้อย และสวัสดิการด้านอื่น จึงหารือสำนักงบประมาณเพื่อจัดสรรงบประมาณเรื่องดังกล่าวโดยตรง เพื่อพิจารณางบด้านอื่นซึ่งไม่ได้ใช้ตามแผนยืนยันอยู่ในกรอบการขาดดุลงบประมาณที่ 450,000 ล้านบาท คาดว่าจะต้องสรุปเพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในกลางเดือนกันยายนนี้ ก่อนแจกบัตรสวัสดิการประจำตัวผู้มีรายได้น้อย และเริ่มใช้วันที่ 1 ตุลาคมนี้ สำหรับการโอนเงินโดยตรงต้องมีเงื่อนไขกำหนดให้ปฏิบัติ เช่น การส่งบุตรเรียนให้ครบตามเกณฑ์ และข้อกำหนดที่สำคัญ และรัฐบาลต้องส่งเงินและสวัสดิการเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้ใช้เงินซื้อสินค้าปัจจัย 4 ผ่านบัตรสวัสดิการในร้านประชารัฐของกระทรวงพาณิชย์
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยผ่าน ธ.ก.ส. 5.6 ล้านคน เป็นเกษตรกร 2 ล้านคน จึงต้องการให้สินเชื่อสำหรับผู้ต้องการเงินเพิ่มและต้องหาแนวทางลดต้นทุนให้กับเกษตรกร และส่งเสริมเอสเอ็มอีเกษตรด้านต่าง ๆเพิ่ม จึงเตรียมหารือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประจำทุกเดือน เพื่อศึกษามาตรการเพิ่ม.-สำนักข่าวไทย