รพ.จุฬาลงกรณ์ 28 เม.ย.-สธ.-คณะแพทย์จุฬาฯ-องค์การอนามัยโลก ร่วมแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด ย้ำการทำหมันและให้วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า คือทางออกที่ดีที่สุด เร่งขึ้นสารเคมีทำหมันสุนัข หวังขจัดประชากรสุนัขจรจัดล้น
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คน กล่าวภายหลังหารือร่วมกับผู้แทนองค์การอนามัยโลก ถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า และแนวทางการแก้ไขปัญหา ว่า ประเทศไทยต่อสู้กับโรคพิษสุนัขบ้ามานาน จนสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจาก กว่า 140 คน เมื่อปี 2523 เหลือเพียงประมาณ 5 คน เมื่อปี 2557-2558 ให้หลังมานี้ แต่เมื่อปี 2559 มีคนเสียชีวิตพุ่งขึ้นมาเป็น 14 ราย ล่าสุดปี 2560 เจอแล้ว 3 ราย ในจ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ
ขณะที่ผลการจตรวจหัวสุนัขเจอเชื้อร้อยละ 7 ดังนั้น มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้เป็นศูนย์ในปี 2563 คือ1.ยึดหลักการอย่าแหย่ให้สุนัขโมโหหรือทำให้สุนัขตกใจ อย่ายุ่งกับสุนัขที่เราไม่รู้จัก 2.กรณีถูกกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้งเพื่อฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและกักขังสัตว์ที่กัดไว้อย่างน้อย 10 วันเพื่อดูอาการถ้าสัตว์นั้นตายให้รีบแจ้งกรมปศุสัตว์หรือสถานเสาวภาเพื่อตรวจหาเชื้อทางห้อง ปฏิบัติการ และ3.หลังถูกกัดควรรับการวัคซีนให้ครบตาม เพราะโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อเป็นแล้วจะเสียชีวิตทุกราย ในรายที่เสียชีวิตส่วนมากเป็นเพราะไม่มารับวัคซีน
ด้าน นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกให้ความห่วงใยเรื่องของโรคพิษสุนัขบ้า และจำนวนประชากรสุนัขจรจัดเพราะถือเป็นดัชนีชี้วัด ความเจริญของประเทศ สำหรับประเทศ พบอัตราของสุนัขชุมชนมากขึ้น กว่า สุนัขจรจัด โดยส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงสุนัขในชุมชนแต่ไม่มีเจ้าของชัดเจน ซึ่งการแก้ไขตรงนี้ จำเป้นต้องมีการคุมประชากรสุนัขและทำอย่างไรให้สุนัขได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้าอย่างทั่วถึง ซึ่งขณะนี้ในส่วนการทำหมันสุนัข ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับบริษัทยาต่างประเทศ สามารถผลิตสารเคมีชนิดหนึ่งที่มีความปลอดภัยฉีดเข้าในอัณฑะของสุนัข ช่วยให้สุนัขเป็นหมันได้ โดยไม่ก่ออันตราย หรือผลข้าง เคียง ดีกว่า การจับสุนัขมาผ่าตัดทำหมัน
นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า กระบวนการผลิตสารเคมีเพื่อฉีดทำหมันให้กับสุนัขนี้ ขณะนี้ดำเนินการส่งเรื่องขึ้นทะเบียนกับ อย.มานานกว่า 10 ปี แล้ว และต้นทุนถูกมากแค่ 8 บาท อยากให้ อย.เร่งรัดการดำเนินการเพื่อนำมาใช้โดยเร็ว ส่วนการให้วัคซีนพิษสุนัขบ้า จากการหารือร่วมกับองค์การอนามัยโลก พบว่ามีความก้าวหน้าไปมาก ขณะนี้มีการใช้วัคซีนแบบชนิดกินให้กับสุนัข ช่วยได้ผลมากในกรณีสุนัขจรจัดหรือชุมชน ไม่ต้องตามจับมากฉีดยา เพียงแค่ ให้วัคซีนในรูปแบบอาหาร แก่สุนัข เมื่อกินเข้าไปให้ผลได้ทันที แต่ข้อเสียยังมีราคาแพง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการต่อรองราคา.-สำนักข่าวไทย