กรุงเทพฯ 25 เม.ย. – ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เริ่มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (solar rooftop) 2.2 เมกะวัตต์ คาดประหยัดไฟฟ้ากว่า 10 ล้านบาท/ปี
นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้อำนวยฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า ศูนย์ราชการเป็นหน่วยงานราชการที่ติดตั้ง solar rooftop ขนาดใหญ่ที่สุด โดย กฟน.เป็นผู้ให้บริการติดตั้ง ลงทุนรวมประมาณ 160 ล้านบาท ซึ่งหากเป็นหน่วยงานที่ใช้ไฟฟ้าด้วยในช่วงเสาร์-อาทิตย์จะคืนทุนประมาณ 8-9 ปี แต่เนื่องจากเป็นหน่วยงานราชการจึงใช้เวลาคืนทุน 12 ปี กฟน.พร้อมบริการติดตั้งครบวงจร โดยก่อนหน้านี้ติดตั้งที่กรมบัญชีกลางไปแล้ว
นายวิลาศ กล่าวว่า การให้บริการติดตั้ง solar rooftop เป็นหนึ่งในงานของหน่วยธุรกิจบริการระบบไฟฟ้าครบวงจร ซึ่งให้บริการหลากหลาย เช่น การให้คำปรึกษาการออกแบบ ติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงสูง ระบบไฟฟ้าใต้ดิน การบำรุงรักษาระบบ บริการด้านวิศวกรรม ระบบอาคาร บริการด้านธุรกิจพลังงาน ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ขยายตัวร้อยละ 12-15 จากปีที่แล้วมีรายได้ประมาณ กว่า 2,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายจะแยกออกมาเป็นบริษัทภายในปี 2561 ทั้งนี้ เพื่อความคล่องตัว โดย กฟน.พร้อมจะให้บริการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานการไฟฟ้าของเพื่อนบ้านมาว่าจ้างให้ กฟน.ฝึกอบรมพนักงานจำนวนมาก
ส่วนการขยายการให้บริการภาคราชการ ขณะนี้ กฟน.รอความชัดเจนการแก้ไขกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เรื่องให้หน่วยงานราชการสามารถจ้างที่ปรึกษาบริหารจัดการพลังงาน หรือ ESCO ได้ โดยนำผลประหยัดพลังงานมาแบ่งรายได้ซึ่งกันและกัน หากมีความชัดเจนก็กระตุ้นให้เกิดการประหยัดพลังงานเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันรอเรื่องแผนใช้งบประมาณกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่นำมาส่งเสริมพลังงานทดแทน 2,000 ล้านบาท แผนอนุรักษ์พลังงาน 4,000 ล้านบาท โดย กฟน.ก็พร้อมจะแข่งขันให้บริการเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
ด้านนางแคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เปิดเผยว่า ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 ได้ลงมติอนุมัติให้ TSE เข้าทำรายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประเภทติดตั้งบนพื้นดิน หรือโซลาร์ฟาร์มที่เมืองโอนิโกเบ จังหวัดมิยางิ ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 154.98 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 2,080 ไร่ ราคาขายไฟแบบ FIT อัตรา 36 เยนต่อหน่วย มูลค่าการลงทุนรวมทั้งหมดประมาณ 19,658 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถดำเนินการจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพานิชย์ หรือ COD ได้ภายในปี 2565
นายไรวินท์ เลขวรนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ETE เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2560 มีมติอนุมัติในการยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสาหรับหน่วยงานราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 ของกลุ่มบริษัท ซึ่งมีเป้าหมายการเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งสิ้น 55 เมกะวัตต์ (MW) โดยมีกำหนดการยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการภายในเดือนพฤษภาคม 2560
“มีความพร้อมอย่างมากในการเตรียมตัว เพื่อเข้าร่วมโครงการโซลาร์สหกรณ์ระยะที่ 2 จำนวน 55 เมกะวัตต์ โดยระยะแรกที่ผ่านมาประสบความสำเร็จทั้ง 4 โครงการ 16.47 เมกะวัตต์ ” นายไรวินท์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย