กรุงเทพฯ 23 เม.ย.-“สังศิต” ระบุแนวคิดที่จะกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้เก็บเงินค่าสมาชิกพรรค เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นเพียงอุดมคติที่ไม่มีทางเป็นจริง แนะ สนช.รับฟังความเห็นนักการเมืองและผู้มีส่วนได้เสียก่อนตัดสินใจ
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ระบุให้เก็บเงินค่าสมาชิกพรรคการเมืองปีละ 100 บาท ว่า เป็นความพยายามของ กรธ.ที่อยากเห็นคนดีเข้ามาทำงานการเมืองและให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่เห็นว่าการระบุเช่นนี้เป็นอุดมคติที่ไม่สามารถเป็นจริงในทางปฏิบัติได้ ดังนั้นขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งกำลังพิจารณาเรื่องนี้ควรรับฟังความเห็นจากฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้ปฏิบัติและมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อหาจุดลงตัวที่เหมาะสม เพื่อให้ได้การเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม
“ท่านที่ร่างกฎหมายแบบนี้ เป็นคนดี มีความรู้ แต่ไม่เคยมีประสบการณ์จริงกับพรรคการเมือง การที่เอาคนที่เป็นคนดีมีความรู้ แต่ไม่มีประสบการณ์จริงมาร่างกฎหมาย ก็จะได้แต่สิ่งที่เป็นอุดมการณ์ สิ่งที่เป็นความฝัน อุดมคติที่พวกเขาอยากเห็น ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นจริงในทางปฏิบัติ ผมคิดว่าสิ่งที่ กรธ.ออกแบบมา เป็นเพียงความฝัน ไม่มีทางสำเร็จ ถ้าจะให้ดีต้องให้พรรคการเมืองที่มีประสบการณ์จริงได้มีส่วนร่วมและต้องรับฟังความเห็นด้วย เพราะคนเหล่านี้อยู่ในโลกของความเป็นจริง สนช.ต้องหาทางปรองดองร่างกฎหมายฉบับนี้กับพรรคการเมืองที่สามารถเป็นจริงได้ด้วย” นายสังศิต กล่าว
สำหรับกรณีที่ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ยกเลิก กกต.จังหวัดและให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งมาทำหน้าที่แทนนั้น นายสังศิต กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็น กกต.จังหวัด หรือผู้ตรวจการเลือกตั้งเข้ามาทำงานดูแลการเลือกตั้งก็ตาม แต่หลักเกณฑ์ที่สำคัญที่สุด คือ การได้คนดี ซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำหน้าที่ โดยต้องออกแบบเพื่อให้ได้บุคคลในคุณลักษณะดังกล่าวเข้ามาทำหน้าที่ในการดูแลการเลือกตั้ง และอยากให้ถามประชาชนในพื้นที่และพรรคการเมืองด้วยว่าการใช้ระบบผู้ตรวจการเลือกตั้งเข้ามาจะเป็นหลักประกันว่าจะทำให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรมขึ้นหรือไม่ และทำให้สังคมไทยเดินหน้าได้ดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่
นายสังศิต กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันเห็นว่าการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ แต่สิ่งสำคัญควรให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ รวมทั้งเห็นว่าคนที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนประชาชน จะต้องเปิดเผยรายได้และการเสียภาษีย้อนหลัง 3-5 ปี จะเป็นประโยชน์เช่นกัน.-สำนักข่าวไทย