รัฐสภา 21 เม.ย.- ที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์ 201 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง รับหลักการวาระ 1 ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด้านประธาน กรธ. ยืนยันรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ชี้มีเป้าหมายเพื่อให้การเลือกตั้งเกิดความสมบูรณ์ สุจริต เที่ยงธรรม แจงยกเลิก กกต.จังหวัด ขณะที่ สนช.บางส่วนค้านมีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน กกต.จังหวัด
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เสนอโดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. นำทีมกรธ.เข้าร่วมและเตรียมชี้แจง
นายมีชัย กล่าวถึงการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่า เป็นการร่างโดยนำร่างขององค์กรอิสระเป็นหลักมาปรับปรุง โดยยึดหลัก 3 ประการคือสิ่งใดที่ดีอยู่แล้ว ให้คงเอาไว้ สิ่งใดที่ควรเพิ่มเติมให้ดีขึ้น ก็เพิ่มตามข้อเสนอของฝ่ายต่าง ๆ และสิ่งที่ควรจะมีขึ้นใหม่ เพื่อให้องค์กรอิสสระมีประสิทธิภาพในการทำงาน และในระหว่างการยกร่างได้เปิดรับฟังความเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยังนำประเด็นต่างๆ ขึ้นในเว็บไซด์ของกรธ. เพื่อเปิดให้มีการแสดงความเห็น ร่างพรป.ฉบับนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้การเลือกตั้งเกิดความสมบูรณ์ สุจริต เที่ยงธรรม เพื่อให้ได้คนดีปกครองบ้านเมือง และกรณีที่มีข้อคิดเห็น ทางกรธ.ก็พร้อมน้อมรับและถือเป็นอำนาจของสนช.ที่จะปรับปรุง ซึ่งทางกรธ.พร้อมรับฟังและชี้แจงให้เห็นว่าเหตุใดจึงต้องยกร่างเช่นนั้น
ด้านนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สนช. เห็นด้วยกับภาพรวมของเนื้อหาร่างพรป.ฉบับนี้ โดยเฉพาะมาตรการคุ้มครองพยาน แต่การตัดโครงสร้างเดิมที่เคยช่วยงาน กกต.ในพื้นทีหรือ กกต.จังหวัดออกไป แล้วให้คงอำนาจไว้เฉพาะควบคุมการเลือกตั้ง โดยให้เหลือเฉพาะผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้น จากการศึกษายังไม่ค่อยแน่ใจว่าการให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ถือว่าไม่ค่อยคุ้นเคยกับพื้นที่ จะทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิเที่ยงธรรมได้จริงหรือไม่ ควรนำรูปแบบกกต.จังหวัดผสมผสานกับการมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยที่ให้กกต.จังหวัดมีอำนาจหน้าที่จัดการเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่ต้องควบคุมการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรให้กกต.ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ เพราะต้องยอมรับว่ากกต.เสียสละเข้ามาเพื่อรับการสรรหา แล้วอยู่ ๆ จะต้องพ้นวาระไปด้วยรัฐธรรมนูญที่กำหนดคุณสมบัติที่เข้มข้นขึ้น มองว่าจะไม่เป็นธรรม
นายสมชาย แสวงการ สนช. เห็นด้วยกับการปรับแก้คุณสมบัติ กกต. ที่ถือเป็นการยกเครื่อง แต่ยังมีข้อทวงติงเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามที่อาจยังไม่ครบถ้วน โดยเห็นว่าผู้ที่จะเป็น กกต.ไม่ควรจะถูกตัดสิทธิการเลือกตั้ง พร้อมเห็นด้วยที่จะให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน กกต.จังหวัด เนื่องจากที่ผ่านมา กกต.จังหวัดอาจส่งผลกับปัญหาความไม่โปร่งใส แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งก็อาจไม่คุ้นชินกับพื้นที่จึงควรนำมาผสานเพื่อให้เกิดความถ่วงดุล
ด้านนายตวง อันทะไชย สนช. กล่าวว่า การที่ กรธ.กำหนดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้น มีการศึกษามาจากที่ใด เหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่ และจะทำให้การเลือกตั้งโปร่งใสอย่างไร รวมทั้งกำหนดว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องไม่เป็นข้าราชการ และมีฐานอย่างไร เป็นลูกจ้าง หรือเป็นพนักงาน
นายมีชัย ชี้แจงถึงกรณีที่ กรธ. ยุบ กกต.จังหวัด และตั้งผู้ตรวจการการเลือกตั้งแทน ว่า กรธ. ได้เพิ่มอำนาจให้ กกต.จากเดิมมี 5 คน เป็น 7 คน และมีอำนาจบริหาร และตุลาการในตัว และยังให้อำนาจปฏิบัติการด้วย จึงไม่อยากให้ กกต. ไปถ่ายอำนาจให้กลุ่มบุคคลใด รวมถึง กกต.จังหวัด ที่มีอำนาจชี้เป็นขี้ขาด และมักมีข้อติฉินนินทาทำให้ เกิดการทุจริตไม่เที่ยงธรรม เพราะ กกต.จังหวัดบางคน กรธ. จึงคิดว่า กกต.จังหวัด ไม่ควรมี และถึงแม้ว่า ผู้ตรวจการการเลือกตั้ง จะไม่ใช่บุคคลในพื้นที่ แต่ด้วยข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน ก็จะช่วยให้ผู้ตรวจการการเลือกตั้ง รับทราบสถานการณ์ในพื้นที่ได้โดยไม่จำเป็นต้องไปฝังตัวอยู่ในพื้นที่นาน ๆ และจะมีความคล่องตัวในการทำงานสูง เนื่องจากไม่ใช่การทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการทั้งคณะ และการยกเลิก กกต.จังหวัดนั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งจากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติเห็นว่าร้อยละ 68 ควรยกเลิก กกต.จังหวัด และเพื่อไม่ให้ กกต.กลางถูกแอบอ้างว่าทำไม่ถูกต้องจนเกิดข้อครหา
นายมีชัย ยังชี้แจงถึงคุณสมบัติของคณะกรรมการ กกต. ชุดปัจจุบันว่า แม้กฎหมายไม่ควรมีผลย้อนหลังในลักษณะเป็นโทษ แต่รัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามค่อนข้างเข้มงวด เพื่อให้ได้บุคคลที่กล้าหาญ สุจริตในการทำงาน เพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จ ซึ่งเมื่อรัฐธรรมนูญไม่มีข้อยกเว้นให้แก่บุคคลที่อยู่ก่อนหน้านี้ กรธ. จึงต้องเขียนกฎหมายให้สอดคล้อง และหาก กกต. ที่มีคุณสมบัติถูกต้องก็ให้อยู่ต่อจนครบวาระ แต่ถ้าไม่ถูกต้องก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งไป
จากนั้นที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบรับหลักการด้วยมติเอกฉันท์ 201 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 31 คน โดยมีสัดส่วนของ สนช. 25 คน ,กรธ. 2 คน ,คณะรัฐมนตรี 1 คน , กกต. 1 คน ,สปท. 1 คน และผู้แทนจากกฤษฎีกา 1 คน โดยมีระยะเวลาการแปรญัตติ 7 วัน และพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน .-สำนักข่าวไทย