กรุงเทพฯ 15 เม.ย.- “สมชัย” เผยยุทธศาสตร์ กกต. รองรับการเลือกตั้งในอนาคต เพิ่มนวัตกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงการใช้สิทธิ์ หวังให้การเลือกตั้งมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารกลาง ให้สัมภาษณ์ในเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปีของ กกต. ว่า เราต้องถอดแผนงานออกมาเป็นแผนระยะสั้น 1 ปี และแผนระยะยาว 5 ปี ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสร้างพื้นฐาน การจะเดินไปสู่ 20 ปี โดย 5 ปีแรกก็ต้องเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง รวมไปถึงการกำหนดแผนงานกิจกรรมต่าง ๆ ที่สอดคล้องกัน รวมถึงกำหนดเป้าหมายในการทำงาน ว่าเมื่อทำงานแล้วสิ่งที่ต้องการให้เกิดความสำเร็จ ในแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร
กกต. กล่าวว่า จะมีตัวชี้วัดจำนวนหนึ่งประมาณ 10 ตัว และหลากหลายออกไป เช่น บางตัวก็อาจจะวัดทุกปี หรือบางตัวก็อาจจะเป็นการวัดเมื่อมีกิจกรรมใหญ่ ๆ เช่น เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง และบางตัวก็จะเป็นการวัดโดยมองจากเวลาที่กำหนดไว้ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เมื่อมีกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว จะต้องมีระยะเวลาให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมในระยะเวลาหนึ่ง และหลังจากนั้นเมื่อครบกำหนดแล้วในช่วงของการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของพรรคการเมือง กกต.ต้องมีบทบาทในการเข้าไปส่งเสริม เพราะฉะนั้นเมื่อครบกำหนดแล้วก็ต้องมาประเมินว่าเกิดความสำเร็จตามนั้นหรือไม่
นายสมชัย กล่าวว่า นอกจากนี้การบริหารจัดการเลือกตั้ง เราก็มีตัวชี้วัดที่จะประเมินว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในปีใดจะต้องมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างน้อย 11 อย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคิดค้นใหม่ขึ้นมา เพื่อที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน หรือเพื่อที่จะช่วยทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยบริสุทธิและเที่ยงธรรมมากขึ้น โดยนวัตกรรมที่ กกต. ได้ทำแล้วคือ การจดทะเบียนผู้มีสิทธิออกเสียงที่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิล่วงหน้าในอินเตอร์เน็ต หรือการรับสมัคร ส.ส.โดยระบบอินเตอร์เน็ตควบคู่กับระบบปกติ การใช้บัตรสมาร์ตการ์ดในการแสดงตนของประชาชน เพื่อลดขั้นตอนและเวลาในการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า เป็นต้น
นายสมชัย กล่าวว่า ในส่วนของด้านการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และประชาสังคม ในการสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง ยิ่งทำยิ่งลดลง ล่าสุดในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีองค์กรเอกชนเข้าร่วมประมาณ 22 จังหวัด ซึ่งหายไป 55 จังหวัด ฉะนั้นระหว่างการเตรียมการก็ต้องไปสร้างเครือข่ายภาคเอกชน ส่งเสริมองค์กรเหล่านั้นให้เกิดความพร้อม และเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็จะต้องมีองค์กรเอกชนให้ครบทุกจังหวัด ในขณะเดียวกันจะต้องครอบคลุมในพื้นที่อย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์ ของหน่วยเลือกตั้งทั้งประเทศ การใช้สิทธิของประชาชนก็จะมาจากการที่ได้รู้ถึงข้อมูลเท็จจริงเกี่ยวกับผู้สมัคร และพรรคการเมือง เพื่อเป็นเกณฑ์ในการเลือกของประชาชน ซึ่งทำให้ได้นักการเมืองที่ดีมาบริหารประเทศ.- สำนักข่าวไทย