ภูมิภาค 12 เม.ย. – ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลอดครึ่งวันเช้า การจราจรทั้งสายเหนือ และอีสานเริ่มติดขัด ตำรวจจราจรเร่งระบายรถเปิดช่องทางพิเศษ
ตลอดครึ่งวันเช้า การจราจรบนถนนสายเอเชีย ช่องทางขาขึ้นและถนนสายนครสวรรค์-พิษณุโลก ทางหลวงหมายเลข 1117 มุ่งหน้าสู่ภาคเหนือ รถติดสะสมและติดหนักช่วงสะพานเดชาติวงศ์ แต่รถยังเคลื่อนตัวได้อย่างช้า ๆ สลับหยุดนิ่ง และเริ่มติดหนักตั้งแต่เชิงสะพานข้ามแม่น้ำปิงไปจนถึงบริเวณสี่แยกเขาทอง ทำให้ตำรวจจราจร สภ.เมืองนครสวรรค์ ต้องเร่งระบายรถออกจากตัวเมืองปากน้ำโพ และเปิดช่องทางพิเศษอีก 2 ช่อง ป้องกันรถติดสะสมหนัก คาดว่าช่วงคืนนี้ปริมาณรถจะหนาแน่นมากกว่าช่วงกลางวัน
บนถนนสายเอเชียช่วงรอยต่อระหว่าง อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นรอยต่อ อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ขาขึ้นภาคเหนือ พบว่ารถเริ่มหนาแน่น แต่ยังทำความเร็วตามกันได้ 80-90 กิโลเมตร/ชั่วโมง กรมทางหลวงนำป้ายเลี่ยงเส้นทางสายเอเชีย เริ่มติดหนักมาตั้งไว้เป็นระยะ และแนะนำให้ใช้ถนน 309 ผ่านตัวเมืองอ่างทอง เพื่อจะขึ้นสู่ภาคเหนือแทน ส่วนบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแก้ว รถเริ่มชะลอตัว
ภาพจากมุมสูงจะเห็นว่าบนถนนมิตรภาพบายพาส ทางเลี่ยงเมือง กิโลเมตรที่ 16 บ้านหนองกระดังงา ต.จอหอ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ที่จะมุ่งหน้าขึ้นสู่ภาคอีสาน ปริมาณรถเริ่มหนาแน่น แต่ยังเคลื่อนตัวได้อย่างช้า ๆ สลับหยุดนิ่ง แต่จะติดสะสมบริเวณสะพานต่างระดับ ข้ามทางรถไฟจอหอ และสี่แยกบ้านโพธิ์ เนื่องจากถนนมีลักษณะเป็นคอขวด เจ้าหน้าที่แขวงการทางนครราชสีมาเตรียมพร้อมเปิดช่องทางพิเศษ
ส่วนบรรยากาศการเดินทางลงสู่ภาคใต้ด้วยรถไฟ นายพิชิต อัคราทิพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยประชาชนช่วงสงกรานต์ กำชับเจ้าหน้าที่ป้องกันอุบัติเหตุ และลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้มากที่สุด สำหรับพื้นที่ภาคใต้ จ.สงขลา พบว่ามีการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการตรวจจับความเร็วแบบเรียวไทม์ นอกจากนี้ นายพิชิตยังได้โดยสารรถไฟขบวนด่วนพิเศษ ทักษิณที่ 37 กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก มาลงที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ เพื่อมาติดตามการดำเนิน งานท่าเรือน้ำลึกสงขลา
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) สรุปผลสถิติรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ ซึ่งวันที่ 11 เมษายน 2560 วันแรกของการรณรงค์ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 409 ครั้ง เสียชีวิต 33 คน บาดเจ็บ 420 คน สาเหตุของอุบัติเหตุอันดับ 1 คือ เมาแล้วขับ ร้อยละ 45.48 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 77.80 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ 16.00-20.00 น. ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เชียงใหม่ 18 ครั้ง ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อุบลราชธานี และนครราชสีมา ส่วนผู้บาดเจ็บสูงสุดคือ เชียงราย 17 คน.- สำนักข่าวไทย