รัฐสภา 10 เม.ย.-ที่ประชุม สปท.เห็นชอบรายงาน กมธ.การเมือง ปรับที่มากำนันให้ประชาชนเลือกตั้ง อยู่ในวาระ 5 ปี
การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันนี้ (10 เม.ย.) ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เรื่อง ข้อเสนอประเด็นสำคัญเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2475 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ตำแหน่งกำนัน วาระการดำรงตำแหน่งกำนัน และการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน และร่างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมการธิการฯ ชี้แจงว่า เนื่องจากที่ผ่านมา การเข้าสู่ตำแหน่งและวาระการดำรงตำแหน่งของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกของราษฎรในหมู่บ้านและกำหนดให้กำนันมาจากการคัดเลือกกันเองของผู้ใหญ่บ้านในตำบล โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งจนอายุครบ 60 ปี ซึ่งการเลือกดังกล่าว ทำให้พบว่าแนวโน้มการผูกขาดตำแหน่งเกิดการสั่งสมอิทธิพล ขาดการยึดโยงกับราษฎรโดยตรงและไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมืองแบบมีส่วนร่วมของราษฎร และอาจเกิดการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างผู้ใหญ่บ้าน จึงไม่เป็นที่ยอมรับโดยแท้จริง ดังนั้นจึงเสนอการปฏิรูป โดยให้ราษฎรในทุกหมู่บ้านเป็นผู้เลือกกำนันโดยตรง และควรมีวาระการเลือกทุก 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้โดยไม่จำกัดวาระ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสทบทวนผลการปฏิบัติงาน รวมถึงเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2475 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ตำแหน่งกำนัน วาระการดำรงตำแหน่งกำนัน และการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเพื่อประโยชน์ของราษฎร โดยเสนอให้ผู้ใหญ่บ้านได้รับการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ทุก 3 ปี ให้ผู้ใหญ่บ้านมีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันได้
ขณะที่กรรมาธิการฯ อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายวิทยา แก้วภราดัย และนายชัย ชิดชอบ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า บุคคลที่จะเข้ามาเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องมีความเป็นผู้นำชุมชนและเป็นผู้นำของหน่วยงานรัฐ ดังนั้นการแก้ไขขั้นตอนการคัดเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อลดการบิดเบือนอำนาจรัฐในการบังคับใช้ และการแก้ปัญหาซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส. ก็ต้องเริ่มจากการเลือกกำนัน ผู้ใหญ่ที่สุจริต ยุติธรรม พร้อมย้ำว่าการแก้ไขครั้งนี้จะไม่กระทบกับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน เพราะเมื่อครบ 60 ปี ก็สามารถลงสมัครกำนันได้ ส่วนกำนันจะอยู่ในตำแหน่งจนครบ 5 ปี และเมื่อครบ 5 ปีสามารถใช้สิทธิสมัครเป็นกำนันต่อไปได้ โดยการปล่อยให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน มีวาระดำรงตำแหน่งถึง 60 ปี ทำให้เกิดการผูกครองตำแหน่งที่นานเกินไป ส่งผลต่อวิธีคิดที่มองว่าใช้ตำแหน่งกับผลประโยชน์ ดังนั้นการเสนอกฎหมายดังกล่าวนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการเมือง เพื่อให้การเลือกตั้งสุจริตยุติธรรม ซึ่งข้อเสนอนี้เป็นการประนีประนอมมากที่สุดแล้ว
ขณะที่สมาชิก สปท. มีทั้งอภิปรายสนับสนุนและคัดค้าน นายศานิตย์ นาคสุขศรี สมาชิก สปท. เสนอให้มีการกำหนดที่มาของกำนัน ผู้ใหญ่ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีหน้าที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น เนื่องจากกำนันที่ได้รับการคัดเลือกมาจากผู้ใหญ่บ้านอาจทำให้เกิดการแลกผลประโยชน์ ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากชาวบ้าน อีกทั้งหากมีวาระการดำรงตำแหน่งอยู่นานเกินไป อาจก่อให้เกิดการผูกขาด สะสมอิทธิพลในพื้นที่ได้
นายปรีชา บุตรศรี สมาชิก สปท. เห็นว่าแนวทางที่กรรมาธิการฯ เสนอจะทำให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านยึดโยงกับประชาชนได้จริง แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิ์ได้ อีกทั้งที่ผ่านมา การได้มาซึ่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาโดยตลอด เพื่อใช้เป็นหัวคะแนนของพรรคการเมือง ขณะที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านถูกออกแบบให้ปกครองท้องที่และดูแลคนในชุมชน ไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็นนักการเมือง ดังนั้นจึงจะมาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวไม่ได้ และไม่เห็นด้วยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดำรงตำแหน่ง 5 ปี แล้วเลือกตั้งใหม่ แต่ให้อยู่ในตำแหน่งจนอายุ 60 ปี
นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา สมาชิก สปท. คัดค้านการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะไม่ใช่นักการเมืองท้องถิ่น และต้องเห็นผลประโยชน์ของชาวบ้านเป็นหลัก ซึ่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ในการตรวจสอบความปลอดภัยของลูกบ้าน หากกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งไว้ที่ 5 ปีอาจไม่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งนั้น ๆ อีกทั้งอาจทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่บ้าน และไม่เห็นด้วยที่ให้กำนันต้องอยู่ในวาระ 5 ปี เพราะน้อยเกินไป หากให้ดำรงตำแหน่งจนอายุครบ 60 ปีเชื่อว่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ส่วนการประเมินผลงานของผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ควรเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการประเมินเฉพาะบุคคล
ขณะที่ นายธวัชชัย ฟักอังกูร และนางถวิลวดี บุรีกุล สมาชิก สปท.ตั้งข้อสังเกตในทิศทางเดียวกันว่า การกำหนดให้มีวาระการดำรงตำแหน่งแต่ละยุคสมัยไม่เหมือนกัน เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะนั้น และต้องแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านถือเป็นตัวแทนรับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้าน อีกทั้งการปกครองท้องที่ถือว่ามีความสำคัญเท่า ๆ กับการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องไม่ผูกติดกับนักการเมือง รวมทั้งการประเมินผลงานของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนั้นควรมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อให้ชาวบ้านรับรู้ถึงการทำงานของผู้นำชุมชน แต่ต้องมีมาตรการป้องกันผู้ประเมินให้ได้รับความปลอดภัยด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วที่ประชุม ลงมติด้วยคะแนน 91 ต่อ 27 คะแนน งดออกเสียง 32 เสียง เห็นชอบรายงานฉบับดังกล่าวเพื่อส่งให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป.-สำนักข่าวไทย