ปักกิ่ง, 12 ม.ค. (ซินหัว) — จีนวางแผนปล่อยจรวดขึ้นสู่ห้วงอวกาศกว่า 60 ครั้งในปี 2023 โดยคาดการณ์ว่าบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินและอวกาศแห่งประเทศจีน (CASC) จะปล่อยจรวดมากกว่า 50 ครั้ง และบริษัทอวกาศจีนแห่งอื่นจะปล่อยจรวดมากกว่า 10 ครั้ง
ในจำนวนนี้ จรวดขนส่งลองมาร์ช-2เอฟ (Long March-2F) และลองมาร์ช-7 (Long march-7) จะปฏิบัติภารกิจสำหรับปฏิบัติการของสถานีอวกาศจีน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการตามปกติและเข้าสู่ขั้นแรกของการประยุกต์ใช้และพัฒนาแล้ว
มีการคาดว่าจรวดขนส่งลองมาร์ช-6 (Long March-6) รุ่นปรับปรุง จะขึ้นบินเที่ยวแรกในปี 2023 โดยจรวดซึ่งขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงเหลวที่ทำจากออกซิเจนเหลวและเคโรซีนนี้ ถือเป็นจรวดขนส่งรุ่นแรกของจีนที่ใช้เชื้อเพลิงที่ไม่เป็นพิษและไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
พีอาร์-1 (PR-1) เป็นจรวดเชื้อเพลิงแข็งขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในปัจจุบัน และส่งดาวเทียมจำนวน 6 ดวงขึ้นสู่วงโคจรที่กำหนดสำเร็จเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนจรวดพีอาร์-2 (PR-2) คาดว่าจะถูกปล่อยสู่อวกาศช่วงครึ่งแรกของปี 2023
จีนจะเดินหน้าส่งเสริมโครงการสำรวจดวงจันทร์และดาวเคราะห์ต่อไป รวมถึงดำเนินการพัฒนายานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-7 (Chang’e-7) ยานสำรวจดาวอังคารเทียนเวิ่น-2 (Tianwen-2) และยานสำรวจรุ่นอื่นๆ ในปี 2023
อนึ่ง วันที่ 3 ม.ค. เป็นวันครบรอบ 4 ปีที่ยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-4 ลงจอดบนดวงจันทร์ โดยฉางเอ๋อ-4 ยังคงเป็นยานสำรวจลำเดียวที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดอย่างนิ่มนวลบนด้านไกลของดวงจันทร์และปฏิบัติภารกิจสำรวจพื้นผิว ขณะยานสำรวจดวงจันทร์อวี้ทู่-2 (Yutu-2) หรือ “กระต่ายหยก-2” อยู่ในสภาพดีและเดินทางบนด้านไกลของดวงจันทร์แล้ว 1,455 เมตร เมื่อนับถึงวันที่ 3 ม.ค.
ยานฉางเอ๋อ-6 (Chang’e-6) มีกำหนดเก็บตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์และนำกลับมายังโลกราวปี 2025 ซึ่งจะเป็นการเก็บตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษยชาติ หากภารกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จ
ด้านยานสำรวจฉางเอ๋อ-7 มีกำหนดลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ และจะโคจรเพื่อค้นหาน้ำในถ้ำที่ภูมิภาคดังกล่าว-สำนักข่าวซินหัว
คลิกเพื่ออ่านข่าวภาษาอังกฤษ https://english.news.cn/20230112/b90b3b9d50fd462faafe50e077722005/c.html
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.xinhuathai.com/china/332051_20230112
ขอบคุณภาพจาก Xinhua