หลานโจว, 13 ธ.ค. (ซินหัว) — คณะนักวิทยาศาสตร์จีนใช้ละอองเกสรดอกไม้ของต้นไม้โบราณในการเปิดเผยช่วงเวลาที่พื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ยกตัวสูงขึ้นสู่ระดับความสูงปัจจุบัน ซึ่งบอกใบ้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการก่อตัวของหลังคาโลก
การศึกษาที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (9 ธ.ค.) ในวารสารไซเอนซ์ (Science) ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือนี้ยกตัวสูงขึ้นแตะระดับปัจจุบันอย่างรวดเร็วเมื่อเกือบ 8-10 ล้านปีที่แล้ว
ระดับความสูงของที่ราบสูงฯ มีอิทธิพลต่อความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิอากาศของภูมิภาคแห่งนี้ อย่างไรก็ดี วิวัฒนาการพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของที่ราบสูงฯ ได้รับการตรวจสอบน้อยกว่า แตกต่างจากพื้นที่ฝั่งตอนใต้ที่มีการศึกษาอย่างใกล้ชิด
คณะนักวิทยาศาสตร์จีนนำโดยเหมียวอวิ๋นฟา นักวิจัยจากสถาบันสภาพแวดล้อมเชิงนิเวศวิทยาและทรัพยากรซีเป่ย (NIEER) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ประเมินข้อมูลตะกอนใหม่จากแอ่งไฉต๋ามู่ในที่ราบสูงฯ ซึ่งเป็นแหล่งสะสมละอองเกสรดอกไม้โบราณจากสนภูเขาที่เติบโตในระดับความสูงเฉพาะ
คณะนักวิทย์จัดทำบันทึกการเปรียบเทียบขึ้นใหม่คู่กันสองรายการสำหรับการยกตัวของที่ราบสูงฯ ครอบคลุมระยะเวลา 16 ล้านปี โดยพบว่าเมื่อราว 15 ล้านปีก่อน ภูมิภาคทางตะวันออกและตะวันตกของพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของที่ราบสูงฯ อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลราว 1,969 เมตร และ 1,449 เมตร ตามลำดับ
ผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือยกตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายล้านปีถัดมา โดยสูงขึ้นราว 2,000 เมตร ซึ่งภูมิภาคทางตะวันออกสูงแตะที่ราว 3,685 เมตรเมื่อประมาณ 11 ล้านปีก่อน ส่วนทางตะวันตกสูงแตะที่ 3,589 เมตรเมื่อประมาณ 7 ล้านปีก่อน
ทั้งนี้ ระดับความสูงเหล่านั้นส่วนใหญ่ยังคงทรงตัวและเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยนับตั้งแต่นั้นมา- สำนักข่าวซินหัว
คลิกเพื่ออ่านข่าวภาษาอังกฤษ https://english.news.cn/20221210/47726a1ed8264e25bc2a99dee9f4d50d/c.html
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.xinhuathai.com/china/326082_20221213
ขอบคุณภาพจาก Xinhua